23/6/56

การสูญเสีย ซึมเศร้า







การพยาบาลแบบองค์รวมในการแก้ไขปัญหาสุขภาพ
สำหรับเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีอารมณ์ผิดปกติ
ดร.ศิริรัตน์  จำปีเรือง
·        Loss & Grief
·        Depressive and Suicide
·        Bipolar Disorders
·        Mania
การพยาบาลบุคคลที่อยู่ในภาวะสูญเสียและทุกข์โศก(Loss & Grief)
                การสูญเสีย (Loss) หมายถึง สภาพการณ์ที่บุคคลต้องแยกจาก สูญหาย หรือต้องปราศจากบางสิ่งบางอย่างที่เคยมีอยู่ในชีวิต (Bolander, 1994) อาจเกิดขึ้นทันทีทันใดหรือค่อยเป็นค่อยไป คาดการณ์ได้ หรือไม่สามารถคาดการณ์ได้ และอาจทำให้เกิดความชอกช้ำ เจ็บปวดอย่างมากหรือเพียงเล็กน้อย (Lambert & Lambert, 1989) ซึ่งชีพส์ (Shives, 1990) ได้สรุปไว้ดังนี้
                1. มีการแยกจากหรือปราศจากบางสิ่งบางอย่างที่เคยมีอยู่
                2. มีการเปลี่ยนแปลงหลายประการที่ทำให้บุคคลไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย
                3. บุคคลรับรู้ถึงคุณค่าของสิ่งที่สูญเสียหรือคาดว่ากำลังจะสูญเสีย
                4. ประสบการณ์การสูญเสียในอดีตมีผลต่อการแสดงออกในปัจจุบัน
                ปฏิกิริยาการตอบสนองต่อการสูญเสียของแต่ละบุคคลมีไม่เหมือนกัน ความแตกต่าง ของระดับความรุนแรงและรูปแบบของการแสดงออกขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ หลายประการดังนี้
1.     ความรู้สึกต่อสิ่งที่สูญเสีย การให้คุณค่าและความสำคัญกับสิ่งสูญเสียนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บุคคล
แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบที่รุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป
2.     ประสบการณ์การสูญเสีย ปรากฏการณ์การสูญเสียเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับบุคคลทุกวัย การเรียนรู้การเผชิญ
และแก้ปัญหาที่เกิดจากการสูญเสียได้อย่างเหมาะสมในอดีตย่อมเป็นประสบการณ์สำคัญที่ทำให้บุคคลนั้นสามารถพบความสำเร็จในการปรับตัวต่อการสูญเสีย

                3.  บุคลิกภาพและความพร้อม บุคคลที่มีลักษณะบุคลิกภาพเข้มแข็ง ย่อมสามารถผ่านกระบวนการสูญเสียได้ดีกว่าบุคคลที่มีบุคลิกภาพไม่แข็งแรง หรือรู้สึกว่าการสูญเสียนี้คุกคามชีวิต
                ความเสียใจและทุกข์โศก (Grief) เป็นการตอบสนองทางจิตใจต่อการสูญเสียจะมีความเกี่ยวข้องกับการตายของบุคคลอันเป็นที่รัก สูญเสียความมีคุณค่า เอกลักษณ์ หรือความรู้สึกผิด (Kemp C.& Mollon–Frank, G., 1996) เช่น ผู้ที่ได้รับการผ่าตัด มารดาที่คลอดทารกมีปัญหา เด็กที่ต้องเปลี่ยนโรงเรียน ผู้ที่ถูกข่มขืน ถูกกระทำรุนแรง บุคคลที่อกหัก ว่างงานหรือเกษียณอายุ    ความเสียใจและทุกข์โศก(Grief)  หมายถึง ความรู้สึกเสียใจ (Sad) ที่เกิดขึ้นเมื่อคาดว่าจะมีการสูญเสียหรือรับรู้ตนเองสูญเสีย เป็นปฏิกิริยาตอบสนองที่แสดงออกทั้งสรีระและอารมณ์มีความหมายเดียวกับ “ Mourning ” และ “ Bereavement ” คำว่า “ Mourning ” หมายถึง กระบวนการแสดงออกของบุคคลมีอารมณ์จากการสูญเสีย ขณะ“Bereavement” คือ ระยะเวลาในกระบวนการเสียใจและทุกข์โศกไปจนถึงการปรับตัวกลับคืนสู่ภาวะปกติ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี
                พฤติกรรมการแสดงออก ของความเศร้าโศกนั้นแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
                1. ความเศร้าโศกปกติ (Normal Grief Reaction) ซึ่ง Engel (1964) และ Kuber – Ross (1969) กล่าวถึงระยะของปฏิกิริยาการสูญเสียจากการตายของบุคคลที่รัก ซึ่งเรียกว่าขั้นตอนของความเศร้าโศก (Phases of Mourning) ซึ่งสรุปได้ 3 ระยะดังนี้
            ระยะที่ 1 การขาดความสมดุล (Disequilibrium) บุคคลจะปฏิเสธการรับรู้ ปฏิเสธการยอมรับเกี่ยวกับการสูญเสีย ช็อก ไม่เชื่อว่ามีการสูญเสียเกิดขึ้น และมีความหวังว่าการสูญเสียนั้นจะไม่เป็นความจริง อารมณ์ที่เป็นลักษณะเด่นคือ ร้องไห้ฟูมฟาย (weeping) และความโกรธ (anger) การร้องไห้เป็นการยอมรับการสูญเสียว่าเกิดขึ้นจริง ส่วนความโกรธเป็นลักษณะอารมณ์ของผู้ที่ผ่านการสูญเสียในระยะแรก อาจโกรธต่อพยาบาล บุคคลใกล้ชิด หรือตนเอง ระยะเวลาในการปฏิเสธ อาจ 2-3 นาที หลายชั่วโมงเป็นวันหรือเดือน ถ้านานเป็นเดือนก็จะเป็นความผิดปกติ
                ระยะที่ 2 ความวุ่นวาย (Disorganization) เมื่อบุคคลประสบการสูญเสียยอมรับว่าการสูญเสียนั้นเกิดขึ้นจริงจะเกิดความรู้สึกสิ้นหวัง ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง คิดว่าตนเองไม่มีคุณค่า มีความทุกข์ทรมาน มีความเจ็บปวดทางจิตใจ ไม่อยากมีชีวิตอยู่ รู้สึกไร้ค่า อาจใช้กลไกแบบปฏิเสธความเป็นจริง (Denial) เพื่อป้องกันตนเอง อาจมีอาการหายใจขัด อ่อนเพลีย ตัวชา หน้ามืด คอแห้ง คลื่นไส้ วิงเวียน รู้สึกเลื่อนลอยไม่ยอมรับความจริงเป็นครั้งคราว ไม่ผูกพันทางอารมณ์กับผู้อื่น หมกมุ่นอยู่กับความคิด สิ่งของสัญลักษณ์ เช่น รูปถ่าย เสื้อผ้าของผู้ที่จากไป บางคนอาจจะมีประสาทลวง (Illusion) หรือประสาทหลอน (Hallucination) พฤติกรรมจะพบใน 20-60 วันแรก
                ระยะที่ 3 การกลับคืนสู่ปกติ (Reorganization) ผู้ประสบการสูญเสียจะพบความจริงว่า การสูญเสียเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่สามารถเรียกร้องกลับคืนได้ จึงพยายามตัดความสัมพันธ์กับสิ่ง ของหรือบุคคลที่สูญเสียไปได้เริ่มตั้งจุดมุ่งหมายใหม่ สร้างความสัมพันธ์ใหม่ และพฤติกรรมใหม่ ๆ ซึ่งถ้าสามารถทำได้สำเร็จก็ถือเป็นการสิ้นสุดระยะของความเศร้าโศก จะใช้เวลา 6 เดือน -1 ปี
                ผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวให้เป็นไปตามระยะดังกล่าวได้จะถือว่าเป็นความเศร้าโศกที่ผิดปกติ
                2. ความเศร้าโศกที่ผิดปกติ (Pathological Grief) เนื่องจากบุคคลไม่สามารถปรับสภาพจิตใจให้เป็นไปตามกระบวนการของความเศร้าโศกได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ
                    2.1 การทุกข์โศกยาวนาน (Prolonged grief) ความคิดหมกมุ่นเกี่ยวกับความทรงจำเก่า ๆ ไม่สามารถขจัดความรู้สึกหม่นหมอง เสียใจจากการสูญเสียไปได้เป็นเวลาหลายปี
                    2.2 ปฏิกิริยาล่าช้า (Delayed Reaction) ลักษณะผิดปกติของการแสดงออก ทำให้กระบวนการของความเศร้าโศกไม่เริ่มต้น และไม่สิ้นสุด เกิดจากการที่บุคคลใช้กลไกทางจิตแบบปฏิเสธความเป็นจริง (denial) และเก็บกด (suppression) เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความเศร้าโศก อาจเกิดได้เป็นหลาย ๆ ปี บางรายความรู้สึกต่าง ๆ ถูกกระตุ้นขึ้นมาอีกเมื่อประสบความสูญเสียซ้ำอีก
                    2.3 ปฏิกิริยาที่บิดเบือน (Distorted Reaction) ไม่สามารถปรับตัวตามกระบวนการเศร้าโศกได้ และเกิดความรู้สึกที่รุนแรง เช่น ความวิตกกังวลสูงมาก (Severe anxiety) กลัว (fear) ละอายใจ (guilt) ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ (helplessness) โกรธ (anger) มีความขัดแย้งเกิดขึ้น และมีความเศร้าโศกเป็นเวลานานเกินไป ผลที่เกิดตามมา คือ ภาวะซึมเศร้า (depression)
                นอกจากนี้ Kubler-Ross (อ้างใน Joffrion & Douglass, 1994) ได้ศึกษาปฏิกิริยาตอบ สนองต่อการสูญเสียของบุคคลใกล้ตาย และการสูญเสียบุคคลที่รัก ได้สรุปการแสดงออก ดังนี้
                ขั้นที่ 1 ปฏิเสธ (Denial) บุคคลไม่ยอมรับและไม่เชื่อว่าเหตุการณ์หรือข้อมูลนั้นเป็นจริง
                ขั้นที่ 2 โกรธ (Anger) บุคคลจะต่อต้านการสูญเสีย เช่น ทำไมต้องเป็นฉัน และจะแสดง ความรุนแรงต่อทุกคน ทุกสิ่ง จะแสดงความโกรธผู้อื่นทั้งบุคลากรการแพทย์และครอบครัวของตน
                ขั้นที่ 3 การต่อรอง (Bargaining) บุคคลที่ใกล้ตายรับรู้ชะตากรรมของตนเองแต่ไม่ต้อง การจะตายในเวลานี้ เนื่องจากมีภาระมากมาย มักพูด ได้โปรด มีอะไรที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
                ขั้นที่ 4 ซึมเศร้า (Depression) เป็นระยะที่ยุ่งยากสำหรับแพทย์ พยาบาลและครอบครัว เพราะรู้สึกว่าไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ ขณะเฝ้าดูให้บุคคลแสดงความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง
                ขั้นที่ 5 ยอมรับ (Acceptance) ระยะที่บุคคลยอมรับความสงบของตนทั้งภายในจิตใจ และสภาพภายนอก บุคคลต้องการบุคคลสำคัญเท่านั้นที่อยู่ใกล้ ๆ สัมผัส สร้างความสุขอย่างสงบ
            การพยาบาลบุคคลที่อยู่ในภาวการณ์สูญเสีย แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
            1. การป้องกันระยะที่ 1 (Primary prevention) เป้าหมายเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความเศร้าโศกผิดปกติ บทบาทพยาบาล คือ การให้ความรู้ ให้การปรึกษา ก่อนที่การสูญเสียเกิดเพื่อเตรียมตัว โดยให้บุคคล ครอบครัวพูดถึงการสูญเสียที่เกิดขึ้นทุกระยะในชีวิต การพยาบาล คือ
                    1.1  แจ้งข่าวการตาย ให้แก่สมาชิกครอบครัวทั้งกลุ่ม แทนที่จะแจ้งแก่สมาชิก คนใดคนหนึ่งในสถานที่เหมาะสม เพื่อกลุ่มคนจะได้ประคองจิตใจกันและแสดงความเศร้าโศกได้
                    1.2  เปิดโอกาสให้ญาติได้กระทำตามต้องการหากเป็นไปได้ จะช่วยให้ยอมรับง่ายขึ้น
                    1.3  ยอมรับการแสดงความโกรธของญาติว่าเป็นปฏิกิริยาต่อการสูญเสีย
            2. การป้องกันระยะที่ 2 (Secondary prevention) เป้าหมายเพื่อลดระยะเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการเศร้า ผู้ป่วยอาจจะยับยั้งปฏิกิริยาการแสดงความเศร้าโศกก็ได้ พยาบาลต้องให้กระบวนการเศร้าโศกเกิดขึ้นปฏิกิริยาความเศร้าโศกที่ผิดปกติ (Pathological Grief Reaction) อาจมีอาการ ดังนี้
·        อารมณ์เศร้า อาฆาตมาดร้ายรุนแรง ความรู้สึกเฉยชา ว่างเปล่าเป็นเวลานานไม่สามารถแสดงหรือ ระบายความเศร้าโศกออกมา ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองลดลง มีความฝันเกี่ยวกับการสูญเสียหรือบุคคลที่สูญเสียเสมอ ๆไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้เมื่อกระตุ้นให้ระลึกถึงการสูญเสียนั้น ๆ
            กิจกรรมการพยาบาล
·     ยอมรับการแสดงความเศร้าโศก และ/หรือการแสดงอารมณ์ของผู้ป่วย
·     ให้โอกาสผู้ป่วยได้สำรวจตนเอง ทั้งความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ความมีคุณค่าในตนเอง
·     กระตุ้นให้ผู้ป่วยสร้างสัมพันธภาพที่มีคุณค่ากับบุคคลอื่น
·     ให้กำลังใจแสดงให้ผู้ป่วยเห็นว่า ความเศร้าโศกเป็นสิ่งที่บุคคลสามารถผ่านพ้นไปได้
·     จัดสภาพแวดล้อมให้ผู้ป่วยลดความหมกมุ่นเกี่ยวกับตนเอง
·     สนับสนุนให้ผู้ป่วยได้ค้นหาวิธีปรับตัวในทางที่สร้างสรรค์เหมาะสมตนเอง
·     ดูแลความต้องการด้านร่างกาย เช่น รับประทานอาหารและน้ำ การพักผ่อนที่เพียงพอ
·     การให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้านต่างๆ เช่น การได้รับยา การทำจิตบำบัด
            3. การป้องกันระยะที่ 3 (Tertiary prevention) เป้าหมายเพื่อลดการเกิดอาการเศร้า เช่น  ผู้ป่วยที่เศร้านาน ๆ มักแยกตัว ไม่มีความหวังในชีวิต การพยาบาลระยะนี้ ช่วยให้ผู้ป่วยได้ระลึกถึงการสูญเสีย รับรู้พฤติกรรม ความรู้สึกที่แสดงออก ให้หาแนวทางเผชิญความรู้สึกอย่างเหมาะสม
การพยาบาลบุคคลที่มีภาวะซึมเศร้าและมีความคิดฆ่าตัวตาย (SUICIDAL IDEA)
                การฆ่าตัวตายในภาษาไทย เรียกอีกอย่างว่า อัตวินิบาตกรรม มาจากคำว่า
                อัตต หมายถึง ตัวตน,ตนเอง สำหรับ วินิบาต หมายถึง การทำลาย ส่วนการฆาตรกรรม หมายถึง            การทำลายหรือฆ่าตนเอง
                การฆ่าตัวตาย “Suicide” มาจากรากศัพท์ SUI คือ Self หมายถึง ตนเอง ส่วน CIDE คือ Murder หมายถึง  การฆ่า
                SUICIDE RISK คือ  การเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
                SUICIDAL BEHAVIOR คือ ความคิดและการกระทำ ซึ่งถ้าปล่อยให้ดำเนินเรื่อยไป อาจทำให้ร่างกายได้รับอันตรายหรือเสียชีวิต
                SUICIDAL ATTEMPT คือ การพยายามฆ่าตัวตาย
                COMPLETED SUICIDE, COMMITTED SUICIDE  คือ การฆ่าตัวตาย
                PARA SUICIDE คือ ภาวะต่างๆเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่ไม่สำเร็จ เป็นความหมายรวมๆ มักจะเป็นลักษณะการเรียกร้อง
                การจำแนกการฆ่าตัวตายตามหลักสังคมศาสตร์  ได้แก่
                1.  Egoistic Suicide หมายถึง การฆ่าตัวตายเนื่องจากการขาดความสัมพันธ์หรือไม่ สามารถเข้ากับสังคมได้เช่นการขาดเพื่อน การไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม
                2.  Altruistic Suicide หมายถึง การฆ่าตัวตายเนื่องจากมีความสัมพันธ์กับสังคมมากเกินไป เช่นการคว้านท้องด้วยตัวเอง ของทหารญี่ปุ่น เมื่อประกาศแพ้สงครามที่เรียกว่า ฮาราคีรี
                3.  Anomic Suicide หมายถึง การฆ่าตัวตายเนื่องจากเกิดการสูญเสียสถานภาพของตนในสังคม เช่นการล้มละลาย (ศรีสมบัติ วาณิช, ฉวีวรรณ สัตยธรรม, 2539)
·        ความคิดอยากตายชั่วขณะเกิดได้ในคนปกติ แต่ถ้าคิดซ้ำซากพบได้บ่อยในผู้ป่วยซึมเศร้า
            สาเหตุของการฆ่าตัวตาย  มีหลายประการ ได้แก่
                1. มีอาการซึมเศร้า คิดว่าตนเองไร้ค่าอยู่ไปไม่มีประโยชน์ ทำให้ไม่สามารถทนอยู่กับอาการต่างๆ ซึ่งทรมานได้อีกต่อไป ส่วนใหญ่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จะมีอาการรุนแรง
                2. มีอาการโรคจิต ผู้ที่เป็นโรคจิต มักมีอาการหูแว่ว หลงผิดและปรับตัวเข้าสังคมลำบาก อาการซึมเศร้าจากโรคจิตเรื้อรังก็คิดอยากตายได้ ผู้ป่วยโรคจิต มีหูแว่วเป็นเสียงสั่งให้ฆ่าตัวตายก็ทำตามเสียงนั้น ผู้ป่วยโรคจิตที่สับสน มีภาพหลอนตกใจวิ่งหนีเกิดอุบัติเหตุเหมือนฆ่าตัวตายได้
                3. ผู้ที่ติดเหล้าหรือสารเสพติด เกิดอาการซึมเศร้า และขาดการยับยั้งใจฆ่าตัวตายได้
                4. ผู้ที่มีบุคลิกภาพผิดปกติจะเกิดปัญหาทางอารมณ์ได้ง่ายและอยากฆ่าตัวตายได้
            กลไกพฤติกรรมการฆ่าตัวตาย
                ปัจจัยที่เกี่ยวกับการเจ็บป่วยทางจิตใจ 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยนำ (Predisposing factor) ซึ่งหมายถึง ปัจจัยภายในตนเอง เช่น ความเข้มแข็งทางอารมณ์และบุคลิกภาพ โรคทางกรรมพันธุ์ การเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจ และปัจจัยกระตุ้น (Precipitation factor) คือ ปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อบุคคล เช่น สภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สภาพความเป็นอยู่ของครอบครัว ฯลฯ ทำให้เกิดความเครียดและความขัดแย้งในใจ (Conflict) และเกิดความคับข้องใจ (Frustration) ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ผลตามมาคือ ความวิตกกังวล (Anxiety) และใช้กลไกทางจิตแบบต่าง ๆ แต่ถ้าล้มเหลวก็จะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า กลไกทางจิตที่ใช้บ่อย ๆ คือ Displacement ย้ายความโกรธไม่ได้ ความโกรธเข้าหาตัวเอง (Introjection) ทำร้ายตนเองในที่สุด
                ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายมี 3 ระดับ
                1. ระดับที่ 1 คือ มีภาวะซึมเศร้าติดต่อกันนาน ๆ  แยกตัว มีกิจกรรมลดลง ร้องไห้บ่อย ๆ ขาดภาคภูมิใจในตนเอง เบื่ออาหาร ไม่มีความสุข ฯลฯ ต้องเฝ้าระวังก่อนที่จะคิดฆ่าตัวตาย
                2. ระดับที่ 2 กลุ่มนี้พื้นฐานจะมีอารมณ์เศร้าติดต่อกันเป็นเวลานาน รู้สึกท้อแท้ เหนื่อยหน่าย สิ้นหวัง และเมื่อมีวิกฤตในชีวิต เช่น ตกงาน สูญเสียบุคคลที่รัก เจ็บป่วยร้ายแรง และเรื้อรัง มีความขัดแย้งที่รุนแรง การถูกทารุณกรรม กลุ่มนี้ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดก่อนที่จะลงมือฆ่าตัวตาย
                3. ระดับที่ 3 มีพฤติกรรมฆ่าตัวตาย เช่น ทำร้ายตัวเองด้วยวิธีการต่าง ๆ มีความคิดอยากตาย พูดหรือย้ำคิดเรื่องความตายบ่อย ๆ พูดสั่งลา วางแผนทำร้ายตนเอง ให้ช่วยเหลือจิตใจด่วน
            สัญญาณที่บ่งว่าผู้ป่วยมีความตั้งใจฆ่าตัวตาย
                1. ทำในที่ห่างไกลจากผู้คน ยากแก่การพบเห็น
                2. ทำในเวลาที่การช่วยเหลือทำได้ลำบาก
                3. เตรียมการเรื่องทรัพย์สิน จดหมายลาตาย
                4. เตรียมการเรื่องการฆ่าตัวตาย เช่น หาซื้อยามาสะสมไว้
                5. ครุ่นคิดเรื่องการฆ่าตัวตายนานพอสมควร (นานเป็นชั่วโมง ๆ ก่อนทำ)
                6. ใช้วิธีการที่รุนแรง และไม่เรียกร้องขอความช่วยเหลือหลังทำ
            การพยาบาลบุคคลที่มีความคิดฆ่าตัวตาย
                1. พยาบาลต้องป้องกันการฆ่าตัวตาย ต้องตระหนักถึงภาวะซึมเศร้าแม้ผู้ป่วยทุกคนที่ซึมเศร้าไม่ใช่ว่าจะฆ่าตัวตายหมด พยาบาลต้องแยกผู้ป่วยให้ได้และให้การดูแลอย่างระมัดระวัง
                2. สิ่งแวดล้อมต้องจัดสิ่งแวดล้อมในรูปของการรักษา คือ
                    2.1 สถานที่ต้องไม่ล่อแหลมต่อการฆ่าตัวตาย แต่ไม่ควรจัดในลักษณะที่กักขังผู้ป่วย ต้องมีอิสรภาพพอสมควร การสังเกตพฤติกรรมผู้ป่วยต้องทำอย่างรัดกุม เตียงควรอยู่หน้าเคาน์เตอร์พยาบาล ไม่อยู่ใกล้หน้าต่างให้ผู้ป่วยอยู่ในสายตาตลอด  24  ควรให้ญาติดูแลร่วมด้วย
                    2.2 ของใช้ต่าง ๆ ต้องระมัดระวังไม่ให้เก็บของมีคมที่จะใช้ทำร้ายตนเองได้ ควรระวังเรื่องยาอันตรายต่าง ๆ เช่น ยาฆ่าเชื้อโรค ยาที่ผู้ป่วยรับประทาน เชือก ผ้าขาวม้า ผ้าปูที่นอน เข็มขัดเพราะผู้ป่วยอาจจะเอามาแขวนรัดคอได้ พยาบาลต้องตรวจสอบของใช้ผู้ป่วยเสมอโดยไม่ให้รู้ตัว
                    2.3 บุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยทุกคน จะต้องมีความจริงใจ เอาใจใส่ โอบอ้อมอารีเป็นมิตร และมีทัศนคติที่ดีต่อผู้ป่วย เข้าใจในปัญหา ความต้องการและพฤติกรรมของผู้ป่วยช่วยให้ผู้ป่วย 3. สัมพันธภาพระหว่างบุคคล พยาบาลต้องทำให้ผู้ป่วยเกิดความไว้วางใจ (Trust) เพื่อว่าผู้ป่วยพูดถึงปัญหา ระบายความคับแค้น ความวิตกกังวล ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี และเข้าใจตนเอง
                3. ต้องคอยสังเกตทั้งพฤติกรรมและคำพูดของผู้ป่วยอย่างรอบคอบ แต่ต้องคอยระวังท่าทีของพยาบาลที่คอยสังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วยด้วย ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าแล้วมีอาการดีขึ้นทันทีทันใด ต้องสังเกตอย่างใกล้ชิดเพราะอาจหาทางออกโดยการฆ่าตัวตายก็ได้
                4. การเข้าร่วมกลุ่มกิจกรรม ส่วนใหญ่มักไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มใหญ่ แต่อาจเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มเล็กบางประเภทใด พยาบาลต้องเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมและคอยให้กำลังใจ ให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมง่าย ๆ ให้เสร็จเพื่อสร้างความภาคภูมิใจและมองปัญหาชีวิตของคนได้กว้างขึ้น
                5. ถ้าจำเป็นควรรับผู้ที่ทำการฆ่าตัวตายไว้รักษาในโรงพยาบาล ภายใต้การดูแลโดยใกล้ชิด ให้ญาติมาเยี่ยมเป็นประจำเพื่อไม่ให้รู้สึกว่าตนเองถูกทอดทิ้ง
                6. เมื่อพบผู้ที่ทำการฆ่าตัวตายในโรงพยาบาลควรส่งต่อ (refer) ไปพบจิตแพทย์หรือผู้มีหน้าที่ช่วยเหลืออื่น ๆ เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาของผู้ป่วย
                7. การวิเคราะห์พฤติกรรม ข้อมูลที่บันทึกไว้ควรวิเคราะห์ทุกระยะอย่างต่อเนื่องกัน
การพยาบาลบุคคลที่มีภาวะซึมเศร้า
            ภาวะซึมเศร้า หมายถึง ปฏิกิริยาจากการสูญเสีย ทำให้เกิดความรู้สึกมืดมน เหนื่อยหน่าย หดหู่ จิตใจอ่อนเพลีย ท้อแท้ สิ้นหวัง รู้สึกไร้คุณค่า อาจเกิดความรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปและทำร้ายตนเองในที่สุด
                สาเหตุ
                1. เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันและปัญหาต่างๆ การสูญเสียบุคคลหรือสิ่งของที่เป็นที่รัก
                2. ความผูกพัน คิดสับสนอยู่กับสิ่งที่ผ่านไปและปรับตัวไม่ได้
                3. สภาพร่างกายและอารมณ์มีการเปลี่ยนแปลงตามวัย
                4. ประสบการณ์การสูญเสีย เช่น การสูญเสียบุคคล พบแต่เหตุการณ์สูญเสียอยู่เสมอ และสิ่งที่สูญเสียเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อบุคคลนั้นๆ
            การพยาบาลผู้ป่วยซึมเศร้า
1.การประเมินภาวะซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้ามีผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกายจิตใจ
อารมณ์และสังคมหลายประการขึ้นอยู่กับอาการและระดับความรุนแรง ดังนั้นพยาบาลจะต้อง
สังเกตและประเมินภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยตามเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะซึมเศร้า เช่น มีสีหน้าเศร้า
อ่อนเพลีย มีความรู้สึกไร้ค่า สูญเสียคนรัก หรือมีความคิดฆ่าตัวตาย เป็นต้น หรืออาจประเมิน
ภาวะซึมเศร้าโดยใช้แบบประเมินต่างๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
                2. หลักการพยาบาล กำหนดแนวทางช่วยเหลือเป็น 2 ระยะ คือ
                    2.1  กำหนดเป้าหมายระยะสั้น
                           - เน้นการป้องกันการทำร้ายตนเอง
                           - ให้ความช่วยเหลือถ้าผู้ป่วยเสียใจจนขาดสติ
                           - เน้นการปรับตัวกับสถานการณ์ การระบายปัญหา
                    2.2  กำหนดเป้าหมายระยะยาว
                            - ทำความเข้าใจปัญหา การฝึกการเผชิญปัญหา
                            - สร้างคุณค่าและเป้าหมายในตนเอง

การพยาบาลบุคคลที่มีภาวะ Affective Disorders
                โรคอารมณ์แปรปรวน  (Affective Disorders) เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติของอารมณ์เป็นอาการเด่น โดยมีอารมณ์เศร้าผิดปกติ ร้องไห้ อ่อนเพลีย อยากตายหรือมีอารมณ์ดีมากผิดปกติ ครึกครื้น พูดมาก ผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงด้านเดียวหรือทั้งสองด้านก็ได้ ความผิดปกติด้านอารมณ์ที่พบบ่อย คือ ความผิดปกติด้านอารมณ์ชนิดซึมเศร้า (Depressive Disorder) ความผิดปกติด้านอารมณ์ชนิดคลุ้มคลั่ง (Mania Episodes) และโรคอารมณ์แปรปรวน (Bipolar Disorders) ซึ่งมีลักษณะการแสดงออกด้านอารมณ์เศร้าสลับกับอารมณ์เริงร่า
1.     ความผิดปกติด้านอารมณ์ชนิดเศร้า (Depressive Disorders) เป็นภาวะจิตใจที่หม่นหมอง หดหู่ เศร้า
ร่วมกับความรู้สึกท้อแท้ หมดหวัง มองโลกในแง่ร้าย มีความรู้สึกผิด รู้สึกมีคุณค่าในตนเองต่ำ ตำหนิตนเอง มีอารมณ์เศร้าตลอดวัน เกือบทุกวันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อาการที่เกิดขึ้นไม่ใช่อาการที่เกิดจากโรคจิตชนิดอื่น ไม่เคยมีอาการเปลี่ยนแปลงด้านจิตอารมณ์ชนิดเริงร่า (Mania) อารมณ์ชนิดซึมเศร้าแบ่งเป็น Major depressive disorder และ Dysthymic disorder
            Major Depressive Disorder มีอารมณ์เศร้า สะเทือนใจร้องไห้ง่าย ผู้ป่วยอาจบอกว่ารู้สึกเบื่อหน่าย จิตใจห่อเหี่ยว ไม่มีความสุข หรือสดชื่นเหมือนเดิม อยากอยู่คนเดียว อาการอื่น เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง รู้สึกอ่อนเพลียทั้งวัน อาจมีประจำเดือนผิดปกติ การเคลื่อนไหลเชื่องช้า พูดน้อย คิดนาน อาจมีกระสับกระส่าย มีสมาธิลดลง หลงลืมง่าย คิดอ่านเชื่องช้า ลังเล ตัดสินใจไม่ได้ มองโลกในแง่ลบ คิดว่าชีวิตตนเองไม่มีคุณค่า คิดอยากตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย
            การวินิจฉัย Major Depressive Episode โดยใช้เกณฑ์ของ DSM IV
                A. มีอาการต่อไปนี้ มากกว่า 5 ข้อ ร่วมกันนาน 2 สัปดาห์ และมีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ไปจากแต่ก่อน โดยต้องมีอาการ อย่างน้อย 1 วันของ (1) depressive mood หรือ (2) loss of interest or pleasure (เบื่อหน่ายไม่มีความสุข)
                1. มีอารมณ์เศร้าเป็นส่วนใหญ่ของวัน แทบทุกวัน จากการบอกเล่าของผู้ป่วย (รู้สึกเศร้า หรือว่างเปล่า) หรือการสังเกตของผู้อื่น (เห็นว่าร้องไห้) เด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิด
                2. ความสนใจหรือความสุขในกิจกรรมต่าง ๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก (loss of interest or pleasure) เป็นส่วนใหญ่ของวัน แทบทุกวัน (จากการบอกเล่าผู้ป่วยหรือการสังเกตผู้อื่น)
                3. น้ำหนักลดลงโดยไม่ได้เกิดจากการคุมอาหาร หรือเพิ่มขึ้นอย่างมีความสำคัญ (ได้แก่น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน) หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารแทบทุกวัน
                4. นอนไม่หลับหรือหลับมากไป
                5. psychomotor agitation หรือ retardation แทบทุกวัน (ผู้อื่นสังเกตไม่ใช้ผู้ป่วยรู้สึกเท่านั้น)
                6. fatigue หรือ loss of energy : รู้สึกอ่อนเพลีย หรือไร้เรี่ยวแรงแทบทุกวัน
                7. รู้สึกตนเองไร้ค่า หรือรู้สึกผิดอย่างไม่เหมาะสมแทบทุกวัน
                8. สมาธิหรือความสามารถในการคิดอ่านลดลงหรือตัดสินใจอะไรไม่ได้แทบทุกวัน
                9. คิดถึงเรื่องการตายอยู่เรื่อย ๆ คิดอยากตายอยู่เรื่อย ๆ โดยมิได้วางแผนแน่นอน หรือพยายามฆ่าตัวตายหรือมีแผนในการฆ่าตัวตายไว้แน่นอน
                B. อาการดังกล่าวมิได้เข้าเกณฑ์ของ Mixed Episode
                C. อาการเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานอย่างมีความสำคัญทางการแพทย์หรือกิจกรรมด้านสังคม การงาน หรือด้านอื่น ๆ ที่สำคัญบกพร่อง
                D. ไม่ได้เกิดจากยา สารเสพติด หรือความเจ็บป่วยทางกาย (เช่น hypothyroidism)
                F. อาการไม่ได้เข้ากับ bereavement ได้ดีกว่า ได้แก่ มีอาการคงอยู่นานกว่า 2 เดือน หลังการสูญเสียผู้ที่ตนรัก หรือมีหน้าที่บกพร่องลงมาก หมกมุ่นกับความคิดว่าตนไร้ค่าอย่างผิดปกติ มีความคิดฆ่าตัวตาย มีอาการโรคจิต หรือ psychomotor retardation
            Dysthymic disorder
                อาการต่าง ๆ คล้ายกับใน Major depressive disorders แต่รุนแรงน้อยกว่า อาการที่พบส่วนใหญ่เป็นด้านอารมณ์และความคิด โดยผู้ป่วยจะมีอาการเบื่อหน่ายท้อแท้ มองโลกในแง่ร้าย
                อาการสำคัญ อารมณ์เศร้าแทบทั้งวัน เป็นเวลานานกว่า 2 ปี เด็ก วัยรุ่นอาจมีอารมณ์หงุดหงิดเป็นอย่างน้อย 1 ปี ส่วนใหญ่เริ่มมีอาการตั้งแต่วัยรุ่น แบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อนข้างเรื้อรัง
            2. ความผิดปกติด้านอารมณ์ชนิดคลุ้มคลั่ง (Manic episodes) ความผิดปกติของอารมณ์ที่มีลักษณะครื้นเครง คึกคักหรือหงุดหงิด อย่างผิดปกติติดต่อกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ มี 3 ระดับ
                    2.1 Hypomania ความแปรปรวนทางอารมณ์ ยังไม่รุนแรง อาจทำให้หน้าที่ทางสังคมและการทำงานมีความบกพร่อง อาการได้แก่ อารมณ์ดี มีความสุข แต่จะแปรปรวนง่ายเมื่อถูกขัดใจ ไม่คงที่ คิดว่าตนเองเป็นใหญ่ ขาดสมาธิ มีกิจกรรมมาก พูดมาก เสียงดัง สนใจเพศตรงข้าม ฟุ่มเฟือย
                   2.2 Acute mania รุนแรงขึ้นต้องได้รับการรักษา อาการที่พบสนุกสนาน ครึกครื้น รื่นเริง ไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ อารมณ์แปรปรวนง่าย อาจหงุดหงิดก้าวร้าว อาละวาดไม่มีเหตุผลเพียงพอ ความคิดสับสน พูดมาก ไม่มีสัมพันธ์กัน เสียงดังโวยวาย คิดว่าตนมีอำนาจเหนือผู้อื่น อาจมีหลงผิดหวาดระแวง ไม่อยู่นิ่ง ไม่กิน ไม่นอน เข้าสังคมบ่อย ใช้จ่ายเงินมาก ตัดสินใจเร็ว จะควบคุมผู้อื่น        
    2.3 Delirious mania เป็นระยะที่มีความรุนแรงมาก มักไม่ค่อยพบถ้ามีการรักษามาก่อน อาการที่พบ ได้แก่ อารมณ์หงุดหงิดแปรปรวนมาก ควบคุมไม่ได้ ความคิดสับสน ไม่รับรู้ วัน เวลา สถานที่ บุคคล หลงผิดประสาทหลอนชัดเจน มีพฤติกรรมวุ่นวาย เป็นอันตรายต่อผู้อื่น
            การวินิจฉัย Manic episodes โดยใช้เกณฑ์ ของ DSM IV
                A. มีช่วงที่มีอารมณ์คึกคัก แสดงความรู้สึกโดยไม่ยั้ง หรืออารมณ์หงุดหงิดที่ผิดปกติและคงอยู่ตลอดอย่างชัดเจนนานอย่างน้อย 4 วัน โดยเห็นชัดว่าต่างจากช่วงอารมณ์ปกติที่ไม่ซึมเศร้า
                B. ในช่วงที่มีความผิดปกติด้านอารมณ์นี้ พบมีอาการดังต่อไปนี้อยู่ตลอดอย่างน้อย 3 อาการ (หรือ 4 อาการหากมีเพียงอารมณ์หงุดหงิด) และอาการเหล่านี้รุนแรงอย่างมีความสำคัญ
                     1. มี self-esteem เพิ่มขึ้นมาก หรือมีความคิดว่าตนยิ่งใหญ่ (grandiosity)
                     2. decreased need of sleep (มีความต้องการนอนลดลงนอนเพียง 3 ชั่วโมงก็พอ)
                     3. พูดมากกว่าปกติหรือพูดอย่างไม่หยุด (more talkative หรือ pressure of speech)
                     4. fight of idea หรือผู้ป่วยรู้สึกว่าความคิดแล่นเร็ว
                     5. วอกแวก (distractibility) ถูกดึงดูดความสนใจได้ง่าย
                     6. ทำกิจกรรมซึ่งมีจุดหมายเพิ่มขึ้นมาก (ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การงานหรือการเรียน หรือด้านเพศ) หรือ psychomotor agitation
                     7. หมกมุ่นอย่างมากกับกิจกรรมที่ทำให้เพลิดเพลิน แต่มีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดความยุ่งยากติดตามมา (เช่น ใช้จ่ายไม่ยั้ง ไม่ยับยั้งใจเรื่องเพศหรือลงทุนทำธุรกิจอย่างโง่เขลา)
                C. ระยะที่มีอาการมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ซึ่งมิใช่ลักษณะประจำของบุคคลนั้นขณะไม่มีอาการอย่างเห็นได้ชัด
                D. ผู้อื่นสังเกตเห็นความผิดปกติด้านอารมณ์และการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ นี้
                E. ระยะที่มีอาการ ไม่รุนแรงถึงขั้นทำให้กิจกรรมด้านสังคม หรือการงานบกพร่องลงมาก หรือทำให้ต้องอยู่โรงพยาบาล และไม่มีอาการโรคจิต
                F. อาการไม่ได้เกิดจากยา สารเสพติด หรือการรักษาอื่น หรือโรคทางกาย (hyperthyroidism)
            3. ความผิดปกติด้านอารมณ์แปรปรวน (Bipolar Disorders)  เป็นโรคอารมณ์แปรปรวนที่ผู้ป่วยมีอาการ mania หรือ hypomania สลับกับ major depressive episode อาการนำที่สำคัญคือ มีอารมณ์โดยทั่วไปเศร้า ไม่สนใจในสิ่งใด อาจจะมีอาการนอนไม่หลับ น้ำหนักตัวลด เริ่มเกิดอาการช่วงอายุ 21-25 ปี เกิดในหญิงและชายเท่า ๆ กัน อาการที่เกิดครั้งแรกในชายเป็นประเภทเริงร่าเป็นอาการนำ (manic episode) ในผู้หญิงจะซึมเศร้า (major depressive episode)
                Bipolar disorders แตกต่างจาก Major depressive disorder คือ การมีประวัติของอารมณ์เริงร่า (manic) หรือมีภาวะอารมณ์ดีสนุกสนานหรือเริงร่าในระดับต่ำ (hypo manic) มาก่อน และถ้าเปรียบเทียบด้านความรุนแรงแล้ว Bipolar disorders จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าและไม่มีอาการทางจิต (psychotic) เหมือนกับภาวะความผิดปกติชนิด major depressive disorder
            ลักษณะการแสดงออก
                ด้านพฤติกรรม  มีพละกำลังมาก นอนน้อย ไม่มีอาการง่วงเหงา หาวนอนให้เห็นแม้นอนน้อย พูดมาก พูดไม่หยุด (Pressure speech) เปลี่ยนเรื่องไปเรื่อย  มีความคิดพรั่งพรู (Flight of ideas) หันเหความสนใจง่าย (Distractibility) ไม่อยู่นิ่ง โอ้อวดตนเอง (Inflated self – esteem) ใช้จ่ายเปลือง
                ด้านความคิด ความคิดพรั่งพรู มีความคิดที่บ่งบอกว่าการตัดสินใจไม่ดีขาดวิจารณญาณถึงแม้ว่าผู้ป่วยเหล่านี้ไม่เสียด้านสติปัญญา ในรายที่เป็นรุนแรงจะพบมีอาการหลงผิดหรือประสาทหลอน โดยเนื้อหามักเกี่ยวกับเรื่องอำนาจวิเศษ ศาสนา อาจแปลกๆ เช่นเดียวกับโรค schizophrenia
                ด้านอารมณ์ อารมณ์แกว่งมาก จากอารมณ์ดีไปเป็นอารมณ์เศร้า การแสดงออกทางอารมณ์บ่งบอกให้เห็นภาวะความโกรธที่ซ่อนแฝงอยู่ในจิตใจส่วนลึก ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่ค่อยคำนึงถึงผู้อื่นหรือกฎเกณฑ์สังคมหากถูกห้ามหรือขัดขวางในสิ่งที่ตนต้องการจะหงุดหงิด ฉุนเฉียว
                Bipolar disorders  แบ่งเป็น
                1. Bipolar I Disorder  เป็นความผิดปกติด้านอารมณ์ที่มีลักษณะสำคัญคือ มีอารมณ์เริงร่า (Mania) เป็นอาการนำมาก่อน มีอาการเริงร่า เกิดอย่างน้อย 1 ครั้ง หรือมากกว่า 1 ครั้ง ร่วมกับการมีประวัติการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ที่มีลักษณะซึมเศร้า ภาวะอารมณ์ผิดปกติเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดและเปลี่ยนเร็ว จะเปลี่ยนจากภาวะเริงร่าไปเป็นภาวะซึมเศร้าอย่างเร็ว ความผิดปกติทางอารมณ์จะคงอยู่เป็นเวลาหลายวันจนถึงหลายเดือน บุคคลจะไม่ตระหนักว่าตนเองผิดปกติ
                2. Bipolar II Disorder  ความผิดปกติทางอารมณ์ที่มีลักษณะอารมณ์ซึมเศร้า (depress) เป็นอาการนำมาก่อน การเกิดอารมณ์เศร้าอาจจะเกิดขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้ง หรือมากกว่า 1 ครั้ง อาจจะมีการแปรเปลี่ยนด้านอารมณ์ชนิดเริงร่าระดับอ่อน (hypo manic episode) มาก่อน ไม่มีประวัติของภาวการณ์แปรเปลี่ยนด้านอารมณ์ชนิดเริงร่า (true manic episode)
            สาเหตุของความผิดปกติทางอารมณ์
            1.  ปัจจัยด้านชีวภาพ  สารชีวเคมี (Monoamine) ที่เป็นสารสื่อประสาทมีผลทำให้เกิดภาวะอารมณ์ซึมเศร้าหรือภาวะอารมณ์ลิงโลด คือ serotonin ถ้ามีระดับน้อยก็ทำให้ภาวะซึมเศร้า
            2.  ปัจจัยทางด้านสังคม  ความเครียด การสูญเสีย ได้แก่ บุคคลที่รัก ทรัพย์สิน เงินทอง อวัยวะ หน้าที่การงาน คุณค่าในตนเอง บทบาทหน้าที่ เป็นสาเหตุของความเศร้า เด็กที่ถูกทอดทิ้งทารุณกรรมด้านร่างกาย จิตใจ เพศ มักจะมีอารมณ์เศร้าและปัญหาสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น
            3.  ปัจจัยด้านการเรียนรู้  ทฤษฎีการเรียนรู้เห็นว่าภาวะความซึมเศร้าเกิดจากการที่บุคคลมองเหตุการณ์และแปลงเหตุการณ์ไปในทางลบ เป็นภาวะ Learned helplessness
            4. ยา/สารเคมี   Reserpine รักษาโรคความดันโลหิตสูง จะลด Biogenic Amine ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการซึมเศร้า M.A.O. Inhibitor ที่รักษาโรควัณโรคจะเพิ่ม Biogenic Amine ทำให้ผู้ป่วยร่าเริง  ส่วน Steroid out put เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยจะซึมเศร้า
                5. ลักษณะบุคลิกภาพของบุคคล  คนที่ขี้อาย หวั่นไหวง่าย วิตกกังวลง่าย ระมัดระวังตนเองมากเกินไป พิถีพิถันมาก หลงตนเอง ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง ผิดหวังบุคคลแบบนี้จะคิดว่าไม่เป็นที่ต้องการ ไม่มีใครรัก คนอื่นไม่ดีกับตน ก้าวร้ายต่อตนและผู้อื่น มีแนวโน้มทำร้ายตนเองและผู้อื่น
                6. สัมพันธภาพกับบุคคลอื่นไม่ดี กลัวการติดต่อกับบุคคลอื่น กลัวผู้อื่นทำร้าย มักใช้ กลไกทางจิต แบบ Introjection โทษตนเอง และ Projection การโทษผู้อื่น จึงทำให้เป็นคนแยกตัวเองออกจากสังคมเก็บตัว และซึมเศร้า
                7. การอบรมเลี้ยงดู พ่อแม่ที่ให้ความสำคัญกับความสำเร็จมากกว่าความถูกต้องหรือสิ่งที่ดีงาม เด็กจะขาดแนวทางสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ไม่พอใจในอนาคต สุดท้ายแล้วจะซึมเศร้า
การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางด้านอารมณ์
·        การพยาบาลผู้ป่วยอารมณ์ซึมเศร้า
                1. การสร้างสัมพันธภาพเพื่อให้เกิดความไว้วางใจ พร้อมทั้งให้ความสนใจอย่างจริงใจ
                2. กระตุ้นให้ผู้ป่วยได้ระบายความคิดและความรู้สึกออกมา
                3. ส่งเสริมความรู้สึกมีคุณค่าในตน มองข้อดีของตน แก้ไขข้อบกพร่อง สร้างเป้าหมายในชีวิต
                4. ส่งเสริมการปรับตัว การแก้ไขปัญหา การใช้กลไกทางจิตที่เหมาะสม
                5. สนับสนุนการดูแลตนเองในการทำกิจวัตรประจำวัน
                6. การดูแลให้ได้รับการรักษาและรับยาอย่างต่อเนื่อง และสังเกตอาการข้างเคียงของยา
                7. ระวังการทำร้ายตนเอง จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัย การประเมินความเสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง เฝ้าระวังและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ลดสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ให้กำลังและรับฟังผู้ป่วย      
8. ส่งเสริมความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง และสอนทักษะจัดการกับปัญหาอย่างเหมาะสม
·        การพยาบาลผู้ป่วยที่มีความผิดปกติด้านอารมณ์ชนิดคลุ้มคลั่ง
                1. การสร้างสัมพันธภาพ เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ พร้อมทั้งให้ความสนใจอย่างจริงใจ
                2. จัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยป้องกันอันตรายทั้งตัวผู้ป่วยเองและผู้อื่น
                3. กระตุ้นและสนับสนุนการดูแลตนเองในการทำกิจวัตรประจำวัน
                4. จัดกิจกรรมกลุ่มบำบัดเพื่อลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพิ่มการใช้พลังอย่างสร้างสรรค์
                5. สอนทักษะเผชิญปัญหา จัดการกับความเครียด และการควบคุมพฤติกรรมที่เหมาะสม
                6. การดูแลให้ได้รับการรักษาและรับยาอย่างต่อเนื่อง และสังเกตอาการข้างเคียงของยา โดยเฉพาะยาลิเทียม ต้องประเมินระดับลิเทียมในกระแสเลือดและดูแลเรื่องการรักษาด้วยไฟฟ้า

  
บรรณานุกรม
เกษม ตันติผลชีวะ.(2543). ความเครียด. ใกล้หมอ 24, 3-4 (มีนาคม-เมษายน ), 57-59.
คณาจารย์วิทยาลัยพยาบาลเครือข่ายภาคเหนือ. (2550). เอกสารทบทวนวิชาสุขภาพจิตและการ
            พยาบาลจิตเวช. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
คณาจารย์สถาบันพระบรมราชชนก. (2539). การพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต.กรุงเทพฯ: ยุทธรินทร์
              การพิมพ์.
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  สาขาวิชาการพยาบาลศาสตร์. (2547). เอกสารการสอนชุดวิชาการ
             ส่งเสริมสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช. (พิมพ์ครั้งที่ 3). นนทบุรี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัย
             สุโขทัยธรรมาธิราช.
มาโนช หล่อตระกูลและปราโมทย์ สุคนิชย์. (2539). จิตเวชศาสตร์. กรุงเทพฯ: ชวนพิมพ์.