23/6/56

สารเสพติด




การพยาบาลแบบองค์รวมในการแก้ไข ปัญหาสุขภาพสำหรับเด็ก
วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่และวัยผู้สูงอายุ ที่มีปัญหาการใช้สารเสพติด และการทารุณกรรม
                           ดร.ศิริรัตน์  จำปีเรือง
·        Substance Abuse & Dependence
·        Substance & Induce Psychotic
·        Abuse & Neglect
การพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาการใช้สารเสพติด
            ยาเสพติด  หมายถึง  สารหรือยาที่อาจเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติหรือจากการสังเคราะห์ ซึ่งเมื่อบุคคลใดเสพหรือได้รับเข้าไปในร่างกายซ้ำ ๆ ไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ จะทำให้บุคคลนั้น ต้องตกอยู่ในอำนาจหรือเป็นทาสของสิ่งนั้นทางด้านร่างกายและจิตใจ ต้องเพิ่มปริมาณการเสพขึ้นเรื่อย ๆ หรือทำให้สุขภาพของผู้เสพเสื่อมโทรมลง  และมีอาการผิดปกติทางด้านร่างกายและจิตใจ 
                ปัญหาการใช้สารเสพติดนั้นมีหลายลักษณะ ประกอบด้วย Substance Abuse & Dependence และ Substance & Induce Psychotic
            Substance dependence  หมายถึง  การที่บุคคลต้องการใช้หรือต้องพึ่งพาสารเสพติดบางอย่างเพื่อให้ตนเองดำเนินชีวิตต่อไปได้  แบ่งเป็น
            1.  การพึ่งพาทางด้านร่างกาย (physical  dependence) หมายถึง การที่บุคคลได้รับสารเสพติดเข้าไปในร่างกายและสารนั้นออกฤทธิ์ที่มีอิทธิพลต่อร่างกาย ทำให้บุคคลต้องใช้สารนั้นไปเรื่อย ๆ เพราะถ้าหยุดใช้หรือปริมาณสารเสพติดในร่างกายลดลง ทำให้เกิดความไม่สุขสบาย           
2.  การพึ่งพาทางด้านจิตใจ (phychological  dependence)  หมายถึง การที่บุคคลได้รับสารเสพติดเข้าไปในร่างกายและสารนั้นมีอิทธิพลต่อจิตใจในลักษณะของความอยากหรือความเคยชิน ทำให้บุคคลต้องแสวงและต้องการได้รับสารนั้นไปเรื่อย ๆ
            เกณฑ์การวินิจฉัยสำหรับ  substance dependence
                การใช้สารที่มีปัญหาทำให้เกิดความเสียหายหรือมีผลเสียต่อตัวเอง ซึ่งอย่างน้อยจะต้องมี  ข้อ  ดังต่อไปนี้  ในเวลาใดเวลาหนึ่งในช่วงระยะเวลา  12  เดือน ที่ผ่านมา
                1.  การดื้อยา  (tolerance) ตามข้อใดข้อหนึ่งดังนี้
ก. มีความต้องการที่จะใช้สารนั้น  เพื่อให้ได้ซึ่งผลหรืออาการที่ต้องการ
ข.  ผลของสารจะลดลงไปอย่างมาก  เมื่อมีการใช้อย่างต่อเนื่อง ในจำนวนที่เท่าเดิม
                2.  อาการขาดยา  (withdrawal)  ตามข้อใดข้อหนึ่งดังนี้
                                ก.  เกิดลักษณะของกลุ่มอาการขาดยา
                                ข.  มีการใช้สารนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงหรือบรรเทาอาการขาดยา
                3.  มักจะใช้สารนั้นในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น  หรือใช้ติดต่อกันนานมากกว่าที่คิดไว้
                4.  ต้องการใช้สารนั้นอยู่ตลอดอย่างต่อเนื่องหรือไม่สำเร็จในการพยายามหยุดหรือเลิกใช้
                5.  เวลาในแต่ละวันหมดไปกับกิจกรรมต่าง ๆ  เพื่อที่จะให้ได้สารเพื่อการเสพสาร
                6.  การใช้สารนั้นทำให้กิจกรรมสำคัญ ๆในด้านสังคม อาชีพและกิจกรรมส่วนตัวเสื่อมลง
                7.  ใช้สารนั้นอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ  แม้จะรู้ว่าสารนั้นก่อให้เกิดปัญหาทางกายและจิตใจก็ตาม
            Substance abuse หมายถึง  การที่บุคลนำสารหรือ ยาบางชนิด มาใช้อย่างไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของสารหรือยานั้น ๆ เช่น นำยาในกลุ่ม amphetamine มารับประทานเป็นยาลดความอ้วน หรือนำยาคุมกำเนิดมารับประทานเพื่อให้ตนเองมีลักษณะทางเพศบางอย่าง
            เกณฑ์การวินิจฉัยสำหรับ  substance abuse
                รูปแบบของการใช้สารที่มีปัญหา  ก่อให้เกิดความเสียหาย  หรือผลเสียต่อตัวเอง  ซึ่งประกอบไปด้วยข้อใดข้อหนึ่งอย่างน้อย  ข้อ  ดังต่อไปนี้  โดยเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา  12  เดือน
1.  มีการใช้สารนั้นอยู่เรื่อย ๆ  ซึ่งทำให้ไม่สามารถทำงานต่าง ๆ  ได้เต็มที่  เช่น  หน้าที่การงาน  การเรียน  หรือ
งานบ้าน เสียไป
2.  มีการใช้สารอยู่เรื่อย  ๆ ในสถานการณ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้เช่น เมาแล้วขับรถ
3.     มีการใช้สารอย่างต่อเนื่อง  แม้ว่าสารนั้นจะก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ในด้านสังคม หรือ ความสัมพันธ์ระหว่าง
บุคคล เช่น  การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างสามีภรรยาที่เกิดจากผลของสารนั้น อาการต่าง ๆ นั้นไม่ครบตามเกณฑ์วินิจฉัย substance dependence ของสารแต่ละประเภท
                มีคำจำกัดความที่รวมความหมายทั้ง substance  dependence  และ  substance abuse  คือ Substance Use Disorders
                Substance Use Disorders ประกอบด้วย substance  dependence และ substance  abuse  หมายถึง การติดสารชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิด  ทำให้มีการใช้สารนั้นอยู่เรื่อย ๆ แม้จะเกิดผลเสียตามมา อาการที่เกิดขึ้นแสดงออกทางความคิด พฤติกรรมและร่างกาย
            Substance Induced Psychotic หมายถึง โรคจิตที่เกิดจากการใช้สารเสพติด โดยสารเสพติดแต่ละชนิดจะมีฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบประสาท กดระบบประสาทและฤทธิ์ผสมผสานทั้งกระตุ้นและกด ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชีวเคมีในสมอง ก่อให้เกิดความผิดปกติด้านความคิด การรับรู้และพฤติกรรม เช่น หลงผิด หูแว่ว ประสาทหลอน อารมณ์แปรปรวนหรือพฤติกรรมเบี่ยงเบน
            ประเภทของยาเสพติด จำแนกตามเกณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้
1.  ตามแหล่งที่มา  แบ่งได้เป็น  2  ประเภท  คือ
1)  ประเภทที่ได้จากธรรมชาติ  ได้แก่  ยาเสพติดที่มาจากต้นพืช เช่น ฝิ่น  มอร์ฟีน  กระท่อม  กัญชา  ฯลฯ
2)    ประเภทที่ได้จากการสังเคราะห์ เป็นยาเสพติดที่ได้จากการปรุงขึ้น โดยกรรมวิธี
ทางเคมีและนำมาใช้แทนยาเสพติดธรรมชาติ เช่น  เฮโรอีน  เซโคบาร์บิตาล  แอมเฟตามีน  ฯลฯ
2.  ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ  พ.ศ.  2522 แบ่งได้เป็น  5  ประเภท  ดังนี้
          ประเภท  1  คือ  ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง เช่น เฮโรอีน เมทแอมเฟตามีน  แอมเฟตามีน  เอ็กซ์ตาซี 
และแอลเอสดี
                                ประเภท  2  คือ  ยาเสพติดให้โทษทั่วไป  เช่น  มอร์ฟีน  โคเคอีน  โคเดอีน  ฝิ่น 
                                ประเภท  3  คือ  ยาเสพติดให้โทษที่มียาเสพติดให้โทษที่มีลักษณะเป็นต้นตำรับยา  และมียาเสพติดให้โทษประเภท  2  ผสมอยู่  ตามเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา  เช่น  ยาแก้ไอที่มีโคเคอีนผสมอยู่
                                ประเภท  4  คือ  สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท  1  หรือประเภท  2  เช่น  แอซิติกแอนไฮไดรด์  แอซิติลคลอไรด์
                                ประเภท  5  คือ  ยาเสพติดที่มิได้เข้าอยู่ในประเภท  1  ถึงประเภท  4  เช่น  กัญชา  พืชกระท่อม  เห็ดขี้ควาย
3.  ตามกฎหมาย  แบ่งได้เป็น  2  ประเภท  คือ
3.1    ประเภทถูกกฎหมาย  เช่น  ยาแก้ไอน้ำดำ  บุหรี่  เหล้า  กาแฟ  ฯลฯ
3.2    ประเภทผิดกฎหมาย
ยาเสพติดให้โทษ  เช่น  มอร์ฟีน  ฝิ่น  เฮโรอีน  พืชกระท่อม  กัญชา
-  วัตถุออกฤทธิ์  เช่น  เซโคบาร์บิตาล  เพโมลีน  อีเฟดรีน
สารระเหย  เช่น  ทินเนอร์  กาว  แล็กเกอร์
            4.  ตามการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท  แบ่งได้เป็น  4  ประเภท  คือ
                            4.1  ยาเสพติดประเภทกดระบบประสาท  เช่น  ฝิ่น  มอร์ฟีน  เฮโรอีน  ยานอนหลับ  สารระเหย  และยาระงับประสาทต่าง ๆ  ยาในกลุ่มนี้มีฤทธิ์ในการเสพติดสูงมากทำให้ติดยาทั้งทางร่างกาย  และจิตใจ  ฤทธิ์ของยายังกดระบบการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ  เช่น  กดศูนย์การหายใจ  ทำให้การเต้นหัวใจช้าลง  หายใจช้าและถ้าใช้ยาเสพติดในปริมาณมาก  ยาจะเพิ่มฤทธิ์ในการกดระบบประสาทสมอง  และกดศูนย์การหายใจมากขึ้น  จนทำให้หายใจติดขัด ทำให้ผู้เสพเสียชีวิตได้ 
                            4.2  ยาเสพติดประเภทกระตุ้นระบบประสาท  เช่น  ยาบ้า  พืชกระท่อม  โคเคน  ยาอี  (อีเฟดรีน)  และยาอี  (เอ็กซ์ตาซี) ใช้ในการรักษาโรคจิตประสาทประเภทที่มีอาการซึมเศร้า  ง่วงหลับ  ฤทธิ์ของยาจะกระตุ้นประสาททำให้ตื่นตัว  ไม่หิว  ไม่ง่วง  มีคนนำยาในกลุ่มนี้ไปใช้ในทางที่ผิด  คือ ลดความอ้วน  ใช้เพื่อให้ทำงานได้มาก  ถ้าใช้ไปนาน ๆ  จะดื้อยาและจะต้องใช้ยาเพิ่มขึ้น  ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมาก  เพราะฤทธิ์ของยาจะกระตุ้นประสาททำให้ประสาทตื่นตัวมีความกระปรี้กระเปร่าชั่วขณะหนึ่ง เมื่อหมดฤทธิ์จะมีอาการหดหู่  ซึมเศร้าและอ่อนเพลีย ถ้าใช้ยามาก ๆ  และนาน ๆ  ทำให้ร่างกายและสมองเครียดและเสื่อมโทรมลงจนอาจเป็นโรคจิตคลุ้มคลั่งได้
                            4.3  ยาเสพติดประเภทหลอนประสาท  เช่น  แอลเอสดี  เมสคาลีน  เห็ดขี้ควาย  ยาเค  ยาประเภทนี้จะออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทสมองส่วนสัมผัสทั้ง  5  ฤทธิ์ของยาจะไปบิดเบือน  ทำให้การมองเห็น  การได้ยิน  การชิมรส  การสัมผัส  และการดมกลิ่นเปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นจริง  เห็นภาพลวงตาเป็นจินตนาการที่มีทั้งที่ดี  สวยงาม  และน่ากลัวจนไม่สามารถควบคุมได้  และถ้าฤทธิ์หลอนประสาทเกิดขึ้นมาก ๆ  จะทำให้ผู้เสพกลายเป็นคนบ้าได้ในที่สุด
                            4.4  ยาเสพติดประเภทออกฤทธิ์ผสมผสาน  เช่น  กัญชา  ยาเสพติดประเภทนี้จะออก
ฤทธิ์ทั้งกด  กระตุ้นและหลอนประสาท  โดยเริ่มออกฤทธิ์กระตุ้นประสาททำให้สมองตื่นตัว  มีอาการกระปรี้ กระเปร่า  หัวใจเต้นเร็ว แล้วจะออกฤทธิ์กดประสาทสมอง ทำให้สมองมืนชา  ความคิด  อ่านช้าลง  กดศูนย์การหายใจ  ทำให้หัวใจเต้นช้า  หายใจช้า  จากนั้นจะออกฤทธิ์หลอนประสาท  เพ้อฝัน  ไม่สามารถควบคุมตนเองได้  ยาเสพติดประเภทนี้มีอันตรายมาก  เพราะลักษณะของการออกฤทธิ์จะทำให้ระบบต่าง ๆ  ภายในร่างกายต้องทำงานหนัก  โดยเฉพาะระบบประสาทสมอง  จะได้รับการกระตุ้น  กด  และหลอน  จนกระทั่งสมองเสื่อมโทรมลงจนถึงขั้นทำให้ความจำเสื่อมได้
            ยาเสพติดที่แพร่ระบาดในปัจจุบัน  ได้แก่
            ฝิ่น  (Opium) มีฤทธิ์ในการกดประสาททางสมอง  ทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้ม  ความคิดอ่านช้าลง  ง่วง  เซื่องซึม  ใจเลื่อนลอย  ไม่รู้สึกหิว  และเบื่ออาหาร  ชีพจรเต้นช้า  หายใจช้า  ม่านตาหด  กดฮอร์โมนเพศ  ผู้ใช้ยากลุ่มนี้จะไม่ค่อยมีอารมณ์ทางเพศ  กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย  ติดเชื้อง่าย  พูดจาไม่อยู่กับร่องกับรอย  ร่างกายทรุดโทรม  และมีอาการโรคประสาทหลอน  เมื่อมีอาการขาดยา  หรืออดยาจะมีอาการขาดยาค่อนข้างรุนแรง  คือ  ลักษณะกระวนกระวาย  หงุดหงิด  โกรธง่าย  ตกใจง่าย  น้ำมูกน้ำตาไหล  เหงื่อออก  กล้ามเนื้อกระตุก  ปวดหลัง  อาเจียน  ท้องเดิน อาจจะถ่ายเป็นเลือด  ม่านตาขยาย  นอนไม่หลับ  หายใจหอบถี่ บางครั้งดิ้นทุรนทุราย  มีความต้องการยารุนแรง  อาการขาดยามีขึ้นในระยะ 24 ชั่วโมงแรก และรุนแรงมากภายใน  48-72  ชั่วโมง แล้วจะค่อย ๆ ทุเลาลง 
            เฮโรอีน  (Heroin) ผู้เสพจะมีความรู้สึกง่วงนอน  หลับได้ดี งุนงง  อาจมีอาการคลื่นไส้  อาเจียน  ร่างกายซูบผอมเหลือง  นัยน์ตาเหลือง  ตาแห้ง  เหม่อลอย  ริมฝีปากแห้ง  น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว  ความคิดช้าลง  ขี้เกียจทำงาน  และเมื่อหยุดเสพจะหงุดหงิด  โกรธง่าย  ง่วงนอน  น้ำมูกน้ำตาไหล  เหงื่อออกมาก  ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง  อุณหภูมิในร่างกายสูง  ขาดสติ  ต้องการยาอย่างรุนแรง  อาเจียน  ท้องร่วง  อาจอาเจียนเป็นเลือด  เบื่ออาหาร  นอนไม่หลับ  ดวงตาเหม่อลอย  อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย  ฟุ้งซ่าน  มีความวิตกกังวล  หายใจช้ากว่าปกติ หรือมีอาการชักเกิดขึ้น  เป็นต้น
            ยาบ้า  (Amphetamine)  เป็นยาเสพติดที่เป็นปัญหาในสังคมไทยปัจจุบัน เนื่องจากมีการใช้กันอย่างกว้างขวาง  ปัญหาของยาบ้าปัจจุบัน คือ เมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์  ซึ่งระเหิดได้ง่ายเมื่อใช้ไฟ  หรือความร้อนจึงสะดวกในการเผา  และสูบ ยาบ้า  เป็นยาประเภทกระตุ้นระบบประสาททำให้ไม่ง่วงนอน  ส่วนประกอบที่สำคัญในเม็ดยาบ้า  คือ สารเมทแอมเฟตามีน  จะมีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต  และระบบประสาทส่วนกลางเป็นสำคัญ  การเสพยาบ้าในปริมาณมาก ๆ  จนเกินขนาด  (overdose)  อาจทำให้ผู้ป่วยชักหมดสติ  การหายใจถูกกด  และเสียชีวิตได้  ผู้เสพจะมีอาการหัวใจเต้นเร็ว  ความดันโลหิตสูงขึ้น  ไม่รู้สึกอ่อนเพลีย  มีกำลังมาก  ไม่อยากรับประทานอาหาร  ปากแห้ง  ชอบเลียริมฝีปาก  อาจทำให้เกิดความครึ้มใจ  ครึกครื้น  หรือเกิดอาการเคลิบเคลิ้ม  ประสาทหลอน  หลงผิด  เกิดความวิตกกังวล  หรือเกิดอาการโรคจิต  (psychosis)  ขึ้น
            ยาอี  (Ecstasy,  Adam,  Eve,  love  drug)  ยาเสพติดที่เรียกกันว่า  ยาอี  มีส่วน ประกอบสำคัญ คือ methylenedioxy methamphetamine (MDMA), methylenedi  oxyethylamphetamine  (MDEA)  หรือ methylene  dioxyamphetamin  (MDA)  เป็นอนุพันธ์ของยาบ้า  (methamphetamine  หรือ  amphetamineMDA  นั้น  ในกลุ่มผู้ติดยาอาจเรียกว่า ยา Love เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติด เช่นเดียวกับยาบ้า และเฮโรอีน  มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เช่นเดียว กับเมทแอมเฟตามีน  แต่แรงกว่าประมาณ  10  เท่า  และยังมีฤทธิ์เป็นสารหลอนประสาทร่วมด้วย ทำ ให้เกิดอาการสนุกสนาน เป็นสุข  มีความต้องการทางเพศ  อาการเป็นพิษ คือ  ประสาทหลอน เห็นภาพหลอน  ได้ยินเสียงหลอน  ความคิดสับสน  หวาดวิตก และซึมเศร้า  ส่วนอาการทางกายที่พบ  คือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ  อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น  หายใจเร็ว  นอนไม่หลับ  กล้ามเนื้อกระตุก
            สารระเหย  (Volatile  Solvents)  ฤทธิ์กดประสาท สารเหล่านี้ ได้แก่ น้ำมัน เบนซิน ทินเนอร์ กาว ยาล้างเล็บ น้ำมันผสมสี  แล็กเกอร์ สีกระป๋องสำหรับพ่น น้ำมันก๊าด เป็นต้น  เมื่อสารระเหยเข้าสู่ร่างกายจะกระจายไปในเนื้อเยื่อของเหลวทุกแห่งในร่างกายสู่ระบบประสาทส่วนกลาง  และจะไปออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนสมอง  สารระเหยเหล่านี้หากเสพจนติดเป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายเกิดโรคต่างๆ  อาจก่อให้เกิดความพิการที่ไม่สามารถแก้ไขได้อีก  เช่น  มะเร็งในเม็ดเลือด  สมองพิการ  ตับพิการ  ไตพิการ  และที่ร้ายแรงกว่านี้  คือ พิการพันธุกรรมด้วย คือ  ไปทำให้โครโมโซม  (Chromosome)  ซึ่งเป็นตัวถ่ายทอดกรรมพันธุ์ไปสู่ลูกหลานให้เกิดความผิดปกติได้                พิษของสารระเหย  แบ่งเป็น  2  ระยะคือ 
            1.  พิษระยะเฉียบพลัน  อาการมาก หรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดสารระเหย  และปริมาณที่เสพ  อาการเกิดขึ้นทันทีหลังสูดดมไม่กี่นาที เริ่มมีอาการคล้ายคนเมาเหล้า คือ แน่นหน้าอก  จมูกบวม  ตาพร่า  ปวดศีรษะรุนแรง  ถ้าเสพปริมาณสูงจะกดการหายใจ  หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวายได้
            2.  พิษระยะเรื้อรัง เมื่อสูดดมนาน ๆ จะทำลายระบบต่าง ๆ  ในร่างกาย เช่น ระบบประสาท  สมอง  ทำให้สมองพิการ  ความจำเสื่อม  ความคิดอ่านช้าลง  ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้  ทำลายระบบทางเดินหายใจ  ทำให้หลอดลมอักเสบ  เยื่อบุจมูกอักเสบ  มีเลือดออกทางจมูก  ทำลายระบบโลหิต  ไขกระดูก  หยุดสร้างเม็ดโลหิต  เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว  ทำลายระบบในร่างกายจนเกิดความบกพร่องพิการถาวรต่ออวัยวะในร่างกาย จนไม่สามารถรักษาให้เหมือนเดิมได้  
            LSD  (แอลเอสดี)  หรือ  LySergic  acid  Diethylamide  ได้จากการสกัดเชื้อราที่ขึ้นในข้าวไรย์เป็นสารกลุ่มหลอนประสาท  (Hallucinogens)  มีฤทธิ์รุนแรงกว่าสารอื่น การนำผง LSD มาละลายน้ำแล้วชุบกระดาษนำไปอบให้แห้ง และปรุกระดาษให้เป็นช่องเล็ก ๆ เหมือนแผ่นแสตมป์ เมื่อต้องการเสพก็ฉีกเอาชิ้นเล็ก ๆ อมใต้ลิ้นจะออกฤทธิ์ภายใน15 - 30  นาที  เรียกกันว่า กระดาษเมา  (Magic  paper  หรือ  Magic  stamp)  นอกจากนี้ยังมีการนำ  LSD  ออกมาจำหน่ายในรูปของ  Magic  sticker  หรือ  Magic  oil  อีกด้วย ฤทธิ์ต่อร่างกาย  LSD  เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วทำให้เกิดอาการประสาทหลอนทั้งแสง  สี  เสียง  โดยฤทธิ์หลอนประสาทนี้จะเกิดอยู่นาน  2-4  ชั่วโมง ทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้ม กลัวและกระวนกระวายและอาจมีแนวโน้มฆ่าตัวตายได้
            กัญชา  (Cannabis) ผลต่อร่างกายหลังจากรับประทาน ½- 1  ชั่วโมงหรือหลังจากสูบ  2-3  นาที  เริ่มด้วยความรู้สึกสบาย  ตื่นเต้น  สนุก  ช่างพูด  หัวเราะ  เสียงดัง  กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนเปลี้ย  และทำงานไม่ประสานกัน  คล้ายเมาเหล้าอ่อน ๆ  หลังจากนั้นเริ่มมีอาการง่วงนอนในที่ สุดจะหลับเรียกว่า  ฝันหวาน  ถ้าได้รับขนาดมากอาการก็จะเพิ่มขึ้น  ทำให้บุคลิกเปลี่ยนแปลงไป  ความรู้สึกต่อแสง  เสียง และสี ผิดปกติไป การรับรู้เกี่ยวกับเวลาและระยะทางผิดไป ความรู้สึกนึกคิด และการตัดสินใจเสียไป  ความคิดสับสน  ยังมีฤทธิ์ทำให้หัวใจเต้นเร็ว  ความดันโลหิตต่ำลง  ตาแดง  อุณหภูมิลดลง  อยากอาหารมากขึ้น กระหายน้ำ  มือสั่น  อาจมีอาการท้องเดิน  และอาเจียน 
            พืชกระท่อม เมื่อเสพทำให้หายปวดเมื่อยตามตัว  ทำงานได้ทนนาน  ทนแดดได้ดี  ถึงแม้จะร้อนเพียงใดก็ตาม  แต่ไม่สามารถจะทนฝนได้  พวกนี้จะกลัวฝนมากที่สุด  เห็นฝนก็เริ่มมีอาการหนาวสั่น  แต่ไม่กลัวน้ำ  อาบน้ำได้ปกติ  กระท่อมมีฤทธิ์ทำให้ประสาทมึนชา  อารมณ์แจ่มใส  ร่าเริง  คนที่เสพเป็นครั้งแรกมักจะมีอาการมึนงง  คอแห้ง  คลื่นไส้  อาเจียน  เมาจนต้องนอน  ฤทธิ์ของกระท่อมอยู่ได้นาน  3-4  ชั่วโมง  และเมื่อเสพไปนาน ๆ  จะทำให้ผิวหนังดำเกรียมคล้ายคนที่ถูกแดดจัด ๆ  และจะมีอาการท้องผูกเป็นประจำ  อุจจาระเป็นเม็ดสีเขียวคล้ายมูลแพะ อาการติดยา คือ หงุดหงิด  กระวนกระวาย  ซึมเศร้า  มึนงง  ปวดเมื่อยตามข้อ  กล้ามเนื้อขา  และบั้นเอว  มีอาการอ่อนเพลีย  เกียจคร้าน  เบื่ออาหาร  และนอนไม่หลับ
            ยากล่อมประสาท  ออกฤทธิ์ไปกดประสาทเช่นเดียวกับพวกยาระงับประสาท  และยานอนหลับแต่ฤทธิ์ยาจะน้อยกว่าทำให้ลดความตึงเครียดวิตกกังวลได้  ทำให้นอนหลับดีขึ้น  ทำให้เกิดการเสพติดได้  เช่น  ยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีพีน  ได้แก่  ไออะซีแพม  ไนตราซีแพม  เป็นต้น  การใช้ยาต้องระวังผลกดประสาท  ไม่ควรรับประทานพร้อมกับสุราหรือยากดประสาทชนิดอื่น ๆ  เพราะสมองถูกกดและศูนย์การหายใจถูกกด อาจทำให้เสียชีวิต  อาการเสพติดมีพิษต่ำแต่มีอาการข้างเคียงเช่น  เกิดผื่นแดงที่ผิวหนัง  เวียนศีรษะ สมรรถภาพทางเพศลดลง  ประจำเดือนมาไม่ปกติ  เป็นต้น
            บุหรี่  ถือว่าเป็นสิ่งเสพติดที่ไม่ผิดกฎหมาย  บุหรี่มีสารเคมีหลายชนิดที่ทำให้เกิดโทษ  เช่น  สารนิโคติน  ที่มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด สารคาร์บอน มอนอกไซด์  เป็นตัวทำลายออกซิเจนในร่างกาย  ทาร์ และสารกัมมันตภาพรังสีเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง  สำหรับนิโคติน  ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในบุหรี่เป็นตัวการที่ทำให้คนติดบุหรี่ สารนี้มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลาง  ผลคือ  ระบบหัวใจ และหลอดเลือด ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ  เช่นหัวใจเต้นเร็ว  ความดันโลหิตสูงขึ้น  ท้องแน่น  อืด  เบื่ออาหาร  เป็นต้น
            สุรา  เป็นสิ่งเสพติดที่ไม่ผิดกฎหมาย  มีเอธิลแอลกอฮอล์เป็นสารประกอบสำคัญ  สารนี้ออกฤทธิ์กดสมองส่วนต่าง ๆ  ก็จะไปกดสมองส่วนที่เกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิด การควบคุมตัวเอง  การตัดสินใจ  การยับยั้ง  และการหักห้ามใจ  คนเมาสุรามักแสดงอาการที่ตามปกติไม่เคยแสดง           
รูปแบบการบำบัดรักษาผู้ติดสารเสพติด  ได้แบ่งไว้ 5 ระยะ คือ
                1.  ระยะประเมินความพร้อม  เป็นระยะที่ผู้เสพ ปฏิเสธการติดสารเสพติด การปฏิเสธจัดว่าเป็นการใช้กลไกในการป้องกันตนเอง การบำบัดจำเป็นที่ผู้รักษาต้องประเมินความพร้อมของผู้ป่วยต่อการยอมรับการเปลี่ยนแปลง  และการปรับตัวต่อการรักษาไปพร้อม ๆ  กัน
                2.  ระยะสร้างความเข้าใจ  การรักษาจะได้ผลดีเมื่อผู้ป่วยมีความพร้อมและยอมรับการรักษา
                3.  ระยะเตรียมความพร้อม  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ขาดความเข้มแข็งในการแก้ไข ระยะนี้จึงเป็นระยะที่ผู้บำบัดต้องให้ความเข้าใจ  เห็นใจ  ให้กำลังใจ  และเปิดโอกาสให้พูดระบายปัญหาความคับข้องใจ และช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงความรู้สึก ความต้องการตนเอง  เพื่อปรับตัวปรับแนวคิดใหม่
                4.  ระยะให้การบำบัดรักษา  เป็นระยะที่ผู้เสพสามารถปฏิบัติได้  ผู้เสพสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้  เลิกเสพได้  จะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่เหมาะสมได้อย่างมาก
            5.  ระยะคงความเปลี่ยนแปลง  เป็นระยะที่ผู้เสพเปลี่ยนพฤติกรรมการไม่เสพอย่างถาวร 
หมายความว่าผู้เสพมีความตั้งใจจะไม่เสพสารเสพติด  หรือไม่หวนกลับไปเสพสารเสพติดอีกต่อไป 
            วิธีการบำบัดรักษา
                1.  การรักษาทางยา  (Pharmacotherapy)   แบ่งเป็น  ประเภท  ได้แก่ 
                                1.1   การถอนพิษยา  (Detoxification)  เป็นการช่วยผู้เสพ ให้ถอนตัวออกจากสารเสพติดและการพึ่งสารเสพติด  การถอนพิษยามีวิธีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน  ได้แก่  1)  การหักดิบ  หรือการไม่ให้ยา  (Cold  turkey)  และ  2)  การใช้ยาชนิดอื่นที่มีคุณสมบัติคล้ายสารเสพติดทดแทน
                                1)  การหักดิบ  หมายถึง  ให้หยุดใช้สารเสพติดทันที  วิธีนี้จะได้รับความทุกข์ทรมานอย่างมาก  เพราะจะเกิดอาการถอนยานาน  4-5  วัน  ในขณะที่รักษาผู้ดูแลและเพื่อน ๆ  ต้องให้ความช่วยเหลือ  ให้กำลังใจอย่างมาก  จนกว่าอาการถอนยาจะลดลง  และหมดไป 
                                2)  การใช้ยาที่มีคุณสมบัติคล้ายสารเสพติดทดแทน  คือ  การนำยาที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมาใช้แทนสารเสพติดเช่น  สารเมธาโดน  ยากล่อมประสาท  ยาทดแทนอื่น  มีหลายวิธี ดังนี้
                                     2.1)  เมธาโดน  (Methadone)  เป็นสารสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติคล้ายเฮโรอีน หรือมอร์ฟีน  ให้ผลดีโดยการกินทางปากออกฤทธิ์ภายใน  30  นาที  ฤทธิ์อยู่นาน 24-36  ชั่วโมง  ผู้ที่ใช้เมธาโดนไม่ต้องเพิ่มขนาด และเสพติดได้ยาก  วิธีนี้จะทำเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 
                                 2.2)  การใช้ยากล่อมประสาท  ยากล่อมประสาทที่ใช้ได้ผลในการรักษาผู้ติดกัญชา  หรือสารเสพติดอื่น  โดยให้ผู้ป่วยหยุดสารเสพติดที่ใช้อยู่ทันที  และให้ยากล่อมประสาทในขนาดสูงแทน  จะทำให้อาการถอนยาบรรเทาลง  ยาที่ใช้  เช่น
                                                     -  Pentobarbital  สำหรับสารที่ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง 
                                                     -  Chlordiazepoxide  (librium)  สำหรับสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท 
                                                     -  Clonidine,  Guanabenz,  Methadone  สำหรับสารที่ใช้บรรเทาอาการปวดประเภท  opiate  analgesic  หรือ  narcotics
                                                     -  Nicotine  transdermal  patch,  Nicorette  gum  สำหรับผู้ติดนิโคติน
                            1.2  การลดฤทธิ์ของสารเสพติด  หมายถึง  การใช้ยาเพื่อลดผล หรืออาการที่เกิดจากการใช้สารเสพติด ยาที่นิยมใช้กัน ได้แก่  Naltrexone  ใช้รักษาผู้ติดเฮโรอีน  เนื่องจาก  Naltrexone  (Trexan)  เป็นยาต้านฤทธิ์สารเสพติดประเภทฝิ่น  โดยจะไปขัดขวางการออกฤทธิ์ของฝิ่น  เฮโรอีน
                            1.3  การรักษาอาการผิดปกติทางจิตและทางกายในผู้ป่วยที่ใช้สารเสพติด  การรักษาจะต้องรักษาทั้งอาการทางจิต และอาการติดสารเสพติดร่วมกัน  เป็นการผสมผสานกันระหว่างการช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นคืนสู่สภาพ  และช่วยด้านชีวจิตสังคมผู้ป่วย เนื่องจากปัญหาทางสุขภาพจิต 
                            1.4  การใช้ยาทดแทน  หมายถึง การใช้ยาที่มีคุณสมบัติคล้ายสารเสพติดที่ใช้อยู่มาแทนสารเสพติดนั้น  โดยไม่ต้องหยุดสารเสพติดนั้น  จะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาวก็ได้  ระยะสั้นใช้ในกรณีที่มีอาการถอนยาที่ใช้  ได้แก่  เมธาโดนในผู้ที่ติดเฮโรอีน  หมากฝรั่งนิโคติน  ในผู้ที่ติดบุหรี่ 
                            1.5  การรักษาอาการอยากยา  (Aversion  Therapy)  หมายถึง  การทำให้ผู้ติดสารเสพติดเกิดความรู้สึกเกลียด  หรือไม่ต้องการเสพสารเสพติดนั้นอีกต่อไป  โดยให้ผู้ป่วยรับประทานยาประเภทต้านฤทธิ์สารเสพติด  (antidipsotropic  agent)  เมื่อผู้ป่วยรับประทานร่วมกับสารเสพติด  จะทำให้เกิดปฏิกิริยาไม่สุขสบายอย่างมาก  เช่น  ปวดศีรษะมาก  คลื่นไส้อาเจียนมาก  มีอาการสั่น  ความดันโลหิตต่ำ  หายใจลำบาก  เป็นต้น  ยาที่ใช้กันบ่อย  ได้แก่  Disulfiran  ใช้ในผู้ป่วยที่ติดสุรา  Naltrexone  ใช้ในผู้ป่วยติดสารประเภทฝิ่น
                2.  การบำบัดเป็นรายบุคคล  (Individual  therapy)  เป็นการบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยได้พูดถึงความรู้สึก  ความคิด  และพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุของปัญหา 
                3.  การบำบัดเป็นรายกลุ่ม  (Group  therapy) เพื่อช่วยให้สมาชิกของกลุ่มที่มีปัญหาการติดสารเสพติดเช่นเดียวกัน  ได้มีส่วนช่วยเหลือซึ่งกัน และกัน 
                4.  ครอบครัวบำบัด  (Family  therapy)  เป้าหมาย คือ การช่วยให้สมาชิกของครอบครัวมีสุขภาพและสภาพชีวิตที่ดีขึ้น  รับรู้และเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของสมาชิก แนวทางในการปรับตัว 
                5.  การให้ความรู้  (Education) จัดเป็นเครื่องมือที่มีคุณค่ามาก  การให้ความรู้ คือ การช่วยให้ผู้ป่วย  และสมาชิกในครอบครัวได้รู้เข้าใจเกี่ยวกับสารเสพติด  และลดความวิตกกังวล 
                6.  การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อการบำบัด  (Milieu  therapy) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วย ควบคุม แก้ไขปัญหาพฤติกรรมตนเอง ช่วยให้ผู้ป่วยมีทักษะในการปรับตัวทางสังคมมีความมั่นคงทางจิตใจ 
                7.  การให้คำปรึกษาอาชีพ  (Vocational  counseling) ช่วยเหลือให้ผู้ป่วยที่ถอนพิษยาแล้วได้รู้จักทำงาน  มีทักษะในการประกอบอาชีพ  ช่วยให้ได้เงินมาใช้จ่ายเกิดความรู้สึกมีคุณค่า 
                8.  กิจกรรมบำบัด  (Activity  therapy) เป้าหมายของการจัดกิจกรรมบำบัดเพื่อฝึกทักษะทางสังคม  การบริหารเวลา  การวางแผนการใช้เวลาว่าง  การฝึกทักษะ  การใช้ชีวิตประจำวัน        
บทบาทของพยาบาลกับการฟื้นฟูสมรรถภาพและติดตามผลผู้ติดสารเสพติด
            1.  การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดสารเสพติด  ฟื้นฟูทั้งด้านร่างกาย  จิตใจ  อารมณ์และสังคม
                 1.1  ทางด้านร่างกาย  ร่างกายของผู้ป่วยทรุดโทรม  การช่วยให้สภาพร่างกายของผู้ป่วยฟื้นคืนสู่สภาพปกติ  จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมสุขภาพและบำรุงสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง 
                1.2  ทางด้านจิตใจ  อารมณ์  และจิตวิญญาณ  ผู้ป่วยอาจมีอารมณ์ไม่ดี หงุดหงิด  หรือโกรธ  ฉุนเฉียวง่าย  พยาบาลต้องระวังเรื่องการสื่อสารกับผู้ป่วย  คำพูดควรโอนอ่อน  สุภาพ  ไม่ใช้คำพูดที่กระตุ้น  ให้เกิดอารมณ์รุนแรง  การช่วยเหลือด้านจิตใจ คือ  การให้คำปรึกษาทั้งรายบุคคลและเป็นกลุ่ม  เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเอง เข้าใจปัญหา ยอมรับปัญหา ให้กำลังใจซึ่งกัน 
                1.3  ทางด้านสังคม  โดยการจัดชุมชนบำบัด  เพื่อพัฒนาสมาชิกให้เกิดการเปลี่ยน แปลงเจตคติ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยการช่วยเหลือและการพึ่ง ตนเอง
                2.  การติดตามผลการช่วยเหลือผู้ติดสารเสพติ เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันการกลับไปเสพซ้ำ  การติดตามทำได้โดย การนัดให้มาตรวจตามที่นัด การเยี่ยมบ้าน  หรือติดต่อทางจดหมาย 
การพยาบาลบุคคลที่ถูกทำทารุณกรรม (Abuse & Neglect)
                ทารุณกรรม เป็นการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและกระทำรุนแรงต่อบุคคลอื่น (abuse) โดยผู้กระทำใช้อำนาจหรือบีบบังคับ มีเจตนาเพื่อทำร้ายต่อร่างกายหรือจิตใจของเหยื่อ (victims) การทารุณกรรมอาจเป็นการทำต่อเด็ก คู่สมรส หรือผู้สูงอายุ รวมถึงการข่มขืน (rape) ด้วย
            การกระทำทารุณกรรมในครอบครัว  เกิดจากหลายสาเหตุ  ดังนี้
              1.  สัมพันธภาพในครอบครัวมีลักษณะรุนแรง  (violence Relationship) แบ่งได้ 4 ระยะ
                      1.1 ระยะเริ่มต้นครอบครัว  อาจมีสัญญาณเตือนบางอย่างระหว่างคู่สมรส ซึ่งภรรยามักจะเผชิญด้วยการพยายามละเลย (ignore) ต่อสัญญาณนั้น และพยายามปรับตัวเพื่อให้ดีขึ้น
                      1.2 ระยะอดทน  ภรรยาตำหนิตนเองและยอมรับว่าการถูกทำร้ายเป็นความผิดของตน
                      1.3 ระยะหลีกหนี  ภรรยาเริ่มเรียนรู้ว่าตนไม่ได้อยู่คนเดียว เริ่มแสวงหาความช่วย เหลือเพื่อได้รับความเชื่อมั่นในตนเองว่าจะสามารถหนีความสัมพันธ์ที่รุนแรงได้
                      1.4 ระยะคืนสภาพ  ภรรยาเริ่มเป็นตัวของตัวเองหนีพ้นจากผู้กระทำได้อาจมีซึมเศร้าได้
                2.  การใช้อำนาจในทางที่ไม่เหมาะสม (Use and Abuse of Power) สาเหตุของการทำร้ายผู้หญิงภายในครอบครัวอีกประการหนึ่ง คือ ความเชื่อที่ว่าผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง ดังนั้น สามีจึงใช้อำนาจควบคุมภรรยาโดยใช้ความรุนแรง แสดงถึงความมีอำนาจของตนเอง
                3.  ลักษณะทั่วไปของผู้กระทำ (Common Characteristic of Abuser) ส่วนใหญ่มีความรู้สึกต่อคุณค่าในตนเองต่ำ มีความริษยา ชอบตำหนิคนอื่น โทษสิ่งแวดล้อม ใช้พฤติกรรมก้าวร้าวเพื่อเพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองขึ้น ยังพบว่าผู้กระทำมักใช้ยาหรือแอลกอฮอล์ร่วมด้วย
            ผลกระทบของการถูกทารุณกรรม
                1. ผลกระทบด้านร่างกาย  อาจมีบาดแผลที่ศีรษะ หน้า คอ ลำตัว หรืออวัยวะเพศ และอาจพบอาการทางร่างกายร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ ระบบย่อยอาหารและการพักผ่อนผิดปกติ
                2. ผลกระทบด้านจิตสังคม  สภาพจิตใจและอารมณ์ที่พบได้บ่อยภายหลังถูกกระทำ ได้แก่ ตำหนิตนเอง ซึมเศร้า รู้สึกคุณค่าในตนต่ำ การตัดสินใจไม่ดี สนองต่อสถานการณ์ไม่เหมาะสม
                การทารุณกรรมร่างกายต่อเด็ก (Physical Abuse of Children) หมายถึง การที่เด็กถูกทำร้ายร่างกายโดยบิดามารดาหรือผู้ปกครอง  เกิดจากหลายปัจจัย  ดังนี้
                .  ปัจจัยทางบิดามารดา บิดามารดา ซึ่งลักษณะต่อไปนี้มีแนวโน้มสูงที่จะทำร้ายบุตร                           
     1. ขาดบิดามารดาและถูกทำร้ายในวัยเด็กมาก่อน
                     2. โรคทางจิตเวช เช่น มีบุคลิกภาพชนิดต่อต้านสังคม ติดสารเสพติด เป็นโรคซึ่งขาดการควบคุมอารมณ์ และมารดาเป็นโรคซึมเศร้าพบในอัตราสูงกว่าปกติ
                    3. มีเชาวน์ปัญญาต่ำ                 4. มีความเครียด
                   5. มีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวและแยกตัวเองออกจากสังคม
                ปัจจัยทางเด็ก  เด็กซึ่งถูกบิดามารดาทำร้ายจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
                      1. ไม่มีความผูกพันกับบิดามารดา
                      2. มีอาการทางจิตเวช เช่น วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับและฝันร้าย
                      3. มีอาการระแวงและไม่ไว้ใจใคร
                      4. ขาดการควบคุมอารมณ์และมีพฤติกรรมก้าวร้าวแบบเด็กเกเร
                      5. เป็นโรคซน สมาธิสั้น
                      6. สัมพันธภาพกับเพื่อนไม่ดีจากเด็กมีพฤติกรรมผิดปกติ แยกตัว มองโลกในแง่ร้าย
                      7. มีความบกพร่องของการรู้การเข้าใจ มีพัฒนาการช้าและเชาวน์ปัญญาต่ำ
                ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม  ครอบครัวเด็กจะมีลักษณะดังนี้ (1) ยากจน (2) วุ่นวายเต็มไปด้วยปัญหา (3) มีบุตรมาก (4) ไม่มีงานทำ และ (5) บิดามารดาเข้มงวดและลงโทษเด็กอย่างรุนแรง
            อาการแสดง  อาการแสดงต่อไปนี้เป็นข้อบ่งชี้ว่าเด็กถูกทำร้ายร่างกาย
                1. บาดแผลมีลักษณะเฉพาะเจาะจง เช่น มีแผลซ้ำบริเวณสะโพก อวัยวะเพศหรือต้นขาด้านใน แสดงว่าเด็กถูกลงโทษจากมีอาการปัสสาวะหรืออุจจาระราดหรือเด็กไม่อาจฝึกขับถ่ายได้
                2. บาดแผลมีพยาธิสภาพหลายแบบ แสดงว่าถูกทำร้ายซ้ำ ๆ หรือเฉพาะ เช่น รอยฝ่ามือ รอยเข็มขัด
                3. รอยถูกไฟไหม้หรือถูกจี้ด้วยบุหรี่ แผลถูกไฟลวกบริเวณฝีเย็บหรือสะโพก
                4. ได้รับบาดเจ็บบริเวณท้องทำให้ตับหรือม้ามแตก
                5. มีเลือดคั่งใต้กะโหลกศีรษะ (Subdural hematoma)
                6. ภาพถ่ายเอ็กซเรย์ของกระดูกผิดปกติ เช่น มีการแยกของ epiphysis
                7. ได้รับบาดเจ็บที่นัยตา เช่น จอภาพตาลอกหรือมีเลือดออก
                8. มีเลือดคั่งใต้หนังศีรษะ เนื่องจากถูกดึงผมอย่างแรง
                9. มีบาดแผลที่หู เช่น รอยหูถูกบิดอย่างแรง หรือแผลซ้ำบริเวณหูด้านนอก
                10. รอยกระดูกหักเป็นรูปวงรี เนื่องจากแขนหรือขาถูกบิดอย่างแรง
            การวินิจฉัยโรค
                เด็กทุกรายซึ่งถูกนำตัวมาพบแพทย์ แพทย์ต้องซักประวัติรวมทั้งการตรวจร่างกายอย่างละเอียดและถ่ายเอ็กซเรย์ไว้ด้วย โดยเฉพาะเด็กซึ่งมีอายุน้อยกว่า 5 ปี นอกจากนี้ควรตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อวินิจฉัยภาวะเลือดออกผิดปกติ พบได้บ่อยในเด็กถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง
            การรักษา
                1. จิตบำบัด มีจุดมุ่งหมายให้บิดามารดามีความรู้สึกที่ดีต่อภาพพจน์ของตัวเอง เปลี่ยนท่าทีที่ผิดซึ่งมีต่อเด็ก เชื่อมโยงการทำร้ายบุตรกับชีวิตวัยเด็กที่เคยถูกทำร้ายมาและปรับวิธีเลี้ยงดูให้ถูกต้อง
                2. พฤติกรรมบำบัด เช่น play therapy เด็กจะมีความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองดีขึ้น มีความไว้วางใจผู้อื่นมากขึ้น ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจว่า การที่ถูกทำร้ายเนื่องจากบิดา มารดา มีปัญหา ไม่ได้เป็นเพราะเด็กมีความประพฤติเสียหายอย่างใด
            การทารุณกรรมทางเพศต่อเด็ก  (Sexual Abuse of Children) หมายความถึง การที่เด็กถูกประทุษร้ายทางเพศจากบุคคลในครอบครัวหรือผู้อื่น
            สาเหตุ
                . ปัจจัยทางครอบครัว  ครอบครัวของผู้ป่วยมักมีลักษณะดังนี้
                    1. มีการปกครองแบบผู้ชายเป็นใหญ่และมีอำนาจ
                    2. บิดาและมารดามีสัมพันธภาพที่ไม่ดีต่อกันและมีปัญหา
                    3. หน้าที่และขอบเขตของบุคคลในครอบครัวไม่ชัดเจน
                    4. แยกตัวเองออกจากสังคมและไม่ติดต่อกับผู้ใด
                . ปัจจัยทางบิดาและมารดา
                     บิดา  จะมีลักษณะดังนี้ (1) ชอบบังคับขู่เข็ญ (2) ติดสุรา (3) มีอาชีพไม่มั่นคง  (4) ไม่คบผู้อื่น และ (5) ไม่สามารถมีความสัมพันธ์กับใครได้
                    มารดา  จะมีลักษณะดังนี้ (1) มีความรู้สึกโดดเดี่ยว  อ้างว้าง  (2) ขาดการแสดงออกของอารมณ์ (3) ไม่เต็มใจที่จะยอมรับว่าสามีทำผิด เพราะกลัวว่าชีวิตสมรสจะแตกแยก            
                     พบได้บ่อยว่าเด็กซึ่งถูกล่วงเกินทางเพศจะมีรูปร่างหน้าตาสวยงามและมักเป็นบุตรคนโตหรือเป็นบุตรคนเดียว และจะมีข้อขัดแย้งหรือโกรธกับมารดา
            อาการ การประทุษร้ายทางเพศมีผลอย่างรุนแรงต่อจิตใจเด็กดังต่อไปนี้
                1. ในเด็กเล็กจะมีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้าและมีอาการทางกาย เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้และอาเจียน ส่วนเด็กโตจะมีความผิดปกติของพฤติกรรม เช่น เป็นเด็กเกเรและใช้สารเสพย์ติด
                2. เกิดเป็นรอยแผลในจิตใจ คิดว่าตนเป็นคนไม่ดี มีความละอายใจและรู้สึกผิด
                3. มีภาพพจน์เกี่ยวกับร่างกายและเรื่องทางเพศผิดปกติ  จะรู้สึกว่าตัวเองผิด
                4. มีความสับสนเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ เนื่องจากเด็กถูกกระตุ้นอารมณ์ทางเพศก่อนถึงวัยอันสมควร ทำให้มีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม เช่น หมกมุ่นเกี่ยวกับเรื่องเพศ อาจสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองบ่อยครั้งหรือทำในที่สาธารณะ อาจมีพฤติกรรมยั่วยวน และถูกเร้าอารมณ์เพศได้ง่าย
                5. มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคทางจิตเวชเนื่องจากภยันตราย             
                6. บิดามารดาอาจทอดทิ้งเด็กและไล่ออกจากบ้าน
                7. เกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจ
            การทารุณกรรมผู้สูงอายุ (ELDER ABUSE)  หมายถึง  การทำให้ผู้สูงอายุเกิดความเสียหาย  โดยทำร้ายร่างกาย  ดุด่าว่าร้าย ล่วงเกินทางเพศ  การฉวยโอกาสหรือละเลยการดูแล เช่น การใช้ผู้สูงอายุเพื่อหาประโยชน์  การไม่ให้สิทธิ์ที่ควรจะได้  การจำกัดสถานที่  การละเลยในการให้บริการทางการแพทย์  การละเลยการดูแลตัวเอง  หรือขาดการดูแลจากผู้ดูแล  (สุทธิชัย, 2543)       
สาเหตุการทารุณกรรมผู้สูงอายุ
1.           เกี่ยวข้องกับตัวผู้สูงอายุ  ผู้ดูแล  ผู้กระทำความเสียหาย  และสภาพแวดล้อม  ภาวะพึ่งพา (dependency)
ของผู้สูงอายุ เช่น สูญเสียสถานภาพด้านการเงิน  ความอ่อนแอ  เจ็บป่วย  ช่วยตัวเองได้น้อย  ต้องได้รับการดูแลทั้งร่างกาย  จิตใจ  และการเงิน  ทำให้ครอบครัวรู้สึกโกรธ  ไม่พอใจ 
                2.  ความรุนแรงที่สืบทอดมา  (transgenerational  violence) เชื่อว่า  ความรุนแรงเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้  เด็กที่เติบในสภาพที่มีความรุนแรงเด็กจะเรียนรู้และแสดงความก้าวร้าวเมื่อโตขึ้น  ถ้าถูกทำร้าย  หรือไม่ได้รับการดูแล โตขึ้นจะตอบแทนพ่อแม่ด้วยการดูแลที่ไม่ดีเช่นเดียวกัน 
                3.  ผู้ดูแลมีภาวะความเครียดสูงกับภาวะพึ่งพาหรือพฤติกรรมผิดปกติของผู้สูงอายุร่วม กับความเครียดส่วนตัว  ทำให้ทำร้ายหรือทอดทิ้งผู้สูงอายุ มักจะเป็นผู้ดูแลสูงอายุ  สุขภาพไม่ดี  ขัดแย้งเรื่องบทบาท  ไม่ตั้งใจดูแล  สัมพันธภาพกับผู้สูงอายุไม่ดี  ไม่เข้าใจผู้สูงอายุ  ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ 

            อาการแสดงของผู้สูงอายุที่ถูกทารุณกรรม
                ด้านร่างกาย  ได้แก่ ผู้สูงอายุเกิดรอยช้ำ  และรอยถูกตีที่หาสาเหตุไม่ได้  บริเวณหน้า  ปาก  หลัง  สะโพก  ต้นขา  รอยแผลถูกของร้อน  อยเข็มขัด  รอยถูกกัด  รอยแผลเหล่านี้พบช้ำ ๆ  แผลไหม้ไม่ทราบสาเหตุ  รอยไหม้จากบุหรี่ที่ฝ่ามือ  ฝ่าเท้า  สะโพก  รอยไหม้จากเตารีดที่แขน  ขา  คอ  หรือหลัง  รอยจากการผูกรัดที่มือ  เท้า กระดูกหัก ศีรษะ จมูก หน้าแตกหรือถลอกไม่รู้สาเหตุ 
            การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ถูกทารุณกรรม
                1.  เพื่อให้ผู้สูงอายุปลอดภัย สิ่งที่ควรประเมิน คือ อะไรที่เป็นอันตรายกับผู้สูงอายุ มีบุคคล อื่นในสิ่งแวดล้อมนั้นที่จะได้รับอันตรายหรือไม่ เจ้าหน้าที่เข้าไปหาข้อมูลจะได้รับอันตรายหรือไม่
                2. ตัดวงจรของการทารุณกรรมผู้สูงอายุโดยครอบครัวบำบัด ผู้สูงอายุถูกทำร้าย หรือถูกละเลยการดูแล  มักมีบุคคลในครอบครัวเจ็บป่วยทางกายหรือทางจิตควรให้การดูแลครอบครัวด้วย
                3.  ติดตามเยี่ยมผู้สูงอายุที่เคยถูกทำร้ายหรือละเลยการดูแลหรือผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยงสร้างสัมพันธภาพที่ไว้วางใจ ควรส่งต่อและติดตามเยี่ยมให้ความช่วยเหลือสนับสนุนทางจิตและสังคม 
            บทบาทของพยาบาล          พยาบาลแต่ละแห่งมีบทบาทที่แตกต่างกัน  ดังนี้
                1.  พยาบาลในโรงพยาบาล/สถานพยาบาล  สามารถวางแผนร่วมกับญาติ  หรือผู้ดูแลเกี่ยวกับการดูแลที่บ้าน  ก่อนให้ผู้ป่วยกลับบ้าน  ควรจะสอนจนแน่ใจว่าญาติ/ผู้ดูแลสามารถดูแลผู้สูงอายุได้  ถ้าผู้ป่วยมีการดูแลที่ยุ่งยาก  อาจต้องส่งต่อให้พยาบาลเยี่ยมบ้านได้ติดตามเยี่ยม  ผู้ดูแลบางคนอาจพยายามบ่ายเบี่ยงไม่รับผู้สูงอายุกลับบ้าน  พยาบาลสามารถเป็นสื่อกลางระหว่างผู้ดูแลหลัก  ผู้สูงอายุ  และสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ  ที่จะช่วยเหลือกัน
                2.  พยาบาลในชุมชน  พยาบาลเยี่ยมบ้านมีส่วนสำคัญในการสังเกตการณ์ทอดทิ้ง/ทารุณกรรม/ทำให้เกิดความเสียหายกับผู้สูงอายุในบ้าน  พยาบาลช่วยสอนผู้ดูแล  และครอบครัวเกี่ยวกับการดูแลตามความต้องการพื้นฐาน  การจัดการกับพฤติกรรมผิดปกติ  ปรับวิธีการรักษาที่ยุ่งยากให้ง่าย  อาจเขียนโยงเป็นลำดับเพื่อให้เข้าใจง่าย  ถ้าสังเกตว่าผู้ดูแลเครียดมาก ควรแนะนำแหล่งที่ปรึกษาให้
********************************************************************


 บรรณานุกรม
กรมสุขภาพจิต   กระทรวงสาธารณสุข. (2546). คู่มือการปรึกษาในสถานการณ์ยาเสพติด . กรุงเทพฯ:
วงศ์กมลโปรดักชั่น                จำกัด.
คณาจารย์วิทยาลัยพยาบาลเครือข่ายภาคเหนือ. (2550). เอกสารทบทวนวิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช.
ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
คณาจารย์สถาบันพระบรมราชชนก. (2539). การพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต.กรุงเทพฯ: ยุทธรินทร์การพิมพ์.
ฐิติวัลคุ์    ธรรมไพโรจน์. (2544 ). เอกสารการสอนชุดวิชาการส่งเสริมสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช
หน่วยที่ 11- 15 . สาขาการพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. นนทบุรี: สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
มาโนช  หล่อตระกูลและปราโมทย์  สุคนิชย์.(2548).จิตเวชศาสตร์รามาธิบดี . กรุงเทพฯ: บริษัทบียอนด์เอ็นเทอร์ไพรซ์
ละเอียด  แจ่มจันทร์ และคณะ. (2549). สาระทบทวนการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชศาสตร์. (พิมพ์ครั้งที่ 3).
                กรุงเทพฯ: บริษัทจุดทองจำกัด.
วิโรจน์  วีระชัยและคณะ. (2544). ตำราการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด. กรุงเทพฯ: วัชรอินเตอร์จำกัด.
วิโรจน์  สุ่มใหญ่ . (2543).  ยาบ้ามหันตภัยข้ามสหัสวรรษ. กรุงเทพฯ: ธีระการพิมพ์.
สมภพ  เรืองตระกูล. (2545 ). ตำราจิตเวชเด็กและวัยรุ่น. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เรือนแก้ว.
อรพรรณ  ลือบุญธวัชชัย. (2545). การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช.  กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อำไพวรรณ พุ่มศรีสวัสดิ์. (2541). การพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต: แนวปฏิบัติตามพยาธิสภาพ.                 กรุงเทพฯ:
หจก.วี.เจ. พริ้นติ้ง.
Beck, L.A. et  al. (2001 ) . Mental  Health  Psychiatric  Nursing. A  Holistic Life – Cycle    approach. Toronto :
The  V. Mosby  Comp.
James L. Levenson. (2005). Textbook  of  psychosomatic  medicine. Viginia :  American psychiatric 


                publishing, Inc.

3 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณค่ะ หางานพอดีเลย ขอบคุณที่ลงความรู้ให้อ่านนะคะ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากครับผม

    ตอบลบ
  3. Harrah's Casino & Hotel, Las Vegas - MapYRO
    Harrah's Casino & 천안 출장마사지 Hotel is a 포항 출장마사지 Native American 과천 출장샵 casino located on the southern end of the Las Vegas Strip 제천 출장안마 in Paradise, Nevada. Located 경기도 출장안마 on the southern end of the

    ตอบลบ