13/5/53

การเข้าใจตนเอง


เป้าหมายของการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพ และผู้เจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตประสาท คือ การช่วยเหลือและแก้ไขเพื่อให้ผู้ป่วยได้มีแนวความคิดและการกระทำกลับเข้ามาอยู่ในขอบเขตของ “ความเป็นจริง” (reality) อีกครั้งหนึ่ง และโดยทั่วไปแล้วในกระบวนการของการดูแลช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาหรือการพยาบาล ผู้ให้บริการจะต้องนำตนเองเข้าไปสัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้รับบริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะผู้เจ็บป่วยทางจิตประสาทมีความแตกต่างกับผู้ป่วยด้วยโรคทางกายที่เห็นได้ชัดเจน คือ ผู้ป่วยด้วยโรคทางกายต้องการการดูแลช่วยเหลือเน้นหนักไปในทางปัญหาด้านร่างกาย ผู้ป่วยอาจช่วยตัวเองได้น้อยหรือช่วยไม่ได้เลย การช่วยเหลือด้านจิตใจแม้จะมีความจำเป็นและต้องให้การช่วยเหลือก็ยังนับว่าเป็นปัญหารองลงมา แต่สำหรับผู้ป่วยที่เจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตประสาทนั้น ปัญหาหลักที่ต้องการการดูแลช่วยเหลือ คือปัญหาด้านจิตใจ ส่วนปัญหาด้านร่างกายเป็นปัญหารอง ซึ่งผู้ป่วยอาจช่วยตัวเองได้มากกว่า ต้องการการดูแล่วยเหลือด้านร่างกายจากพยาบาลน้อยกว่าความต้องการการดูแลทางด้านจิตใจ การรักษาพยาบาลด้านจิตใจจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อผู้ให้บริการนำ “ตนเอง” เข้าไปสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง และใช้ “ตนเอง” เป็นสื่อในการช่วยให้ผู้ป่วยได้เกิดการเรียนรู้ความเป็นจริงเกี่ยวกับตนเองและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกของ “ความเป็นจริง” ดังได้กล่าวมาแล้ว
ในการพยาบาล พยาบาลจิตเวชในฐานะที่เป็นผู้อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยมากกว่าบุคลากรอื่นใดในทีมสุขภาพจิตกิจกรรมการพยาบาลจิตเวชที่เกิดขึ้นทุกกิจกรรม พยาบาลจิตเวชต้องติดต่อปฏิสัมพันธ์กับผู้ป่วยโดยตรง สื่อสำคัญที่สุดที่พยาบาลจิตเวชต้องใช้เป็นเครื่องมือในการให้การพยาบาลผู้ป่วยและผู้รับบริการด้านสุขภาพจิต คือ “ตนเอง” (self) ดังนั้น การรู้จักตนเองจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพยาบาลจิตเวช เพราะการรู้จักตนเองเท่านั้นที่จะทำให้พยาบาลจิตเวช เพราะการรู้จักตนเองเท่านั้นที่จะทำให้พยาบาลสามารถเข้าใจผู้ป่วยได้ เนื่องจากมนุษย์มีความเหมือนกันอยู่ตรงความต้องการในชีวิตซึ่งคล้าย ๆ กัน แม้จะมีระดับต่างกันอยู่บ้างก็ตาม นอกจากนั้นแล้ว การรู้จักตนเองยังมีความจำเป็นเพราะพยาบาลเองก็คือมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วย ร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ* และสังคม ส่วนประกอบดังกล่าวนี้มีผลกระบทในขณะที่ต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นหรือต้องอยู่ใกล้ผู้ป่วยเพื่อดำเนินกิจกรรมการพยาบาล พยาบาลแต่ละคนมีความเป็นเอกลักษณ์แห่งตนซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีแรงจูงใจภายใน ศักดิ์ศรีและคุณภาพแห่งตนในระดับต่าง ๆ กัน การรับรู้ของพยาบาลเองต่อความเป็นจริงมีผลกระทบต่อการให้การพยาบาลผู้ป่วยการรู้จักตนเองหรือการตระหนักในตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

มโนมติพื้นฐานในการรู้จักตนเอง
ในการทำความรู้จักตนเองนั้น พยาบาลจำเป็นต้องทำความเข้าใจในมโนมติพื้นฐาน 3 ประการเกี่ยวกับอัตตา หรือตัวตนของตนเอง อัตมโนทัศน์ และการตระหนักในตนเอง โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. อัตตา หรือ ความเป็นตัวตนของตนเอง (Self)
“อัตตา” มีความสำคัญมากในชีวิตคน ถือเป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจพฤติกรรมของคน เป็นแนวทางในการทำความเข้าใจตนเองและผู้อื่น
“อัตตา” หมายถึง ส่วนรวมทั้งหมดของบุคคล ตามธรรมชาติและความเป็นจริงของบุคคลนั้น ทั้งทางด้านร่างกายพฤติกรรม ความรู้สึกนึกคิด ค่านิยมที่บุคคลนั้นเป็นอยู่หรือมีอยู่ตามความเป็นจริง (real self) ส่วนบุคคลจะเห็นตนเองตรงตามความเป็นจริงมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่การอบรมเลี้ยงดู ความเจริญตามวุฒิภาวะ สิ่งแวดล้อม และการเรียนรู้ เป็นต้น
2. อัตมโนทัศน์ (Self concept)
อัตมโนทัศน์ เป็นแนวคิดที่บุคคลมีต่อ “อัตตา” หรือความเป็นตัวตนของตนเอง เป็นการรับรู้และการประเมินผลที่บุคคลมีต่อตนเอง ซึ่งเป็นผลมาจากประสบการณ์ทั้งในอดีตและปัจจัยการรับรู้ที่บุคคลมีต่อตนเองนี้อาจจะตรงกับความเป็นจริง หรือผิดไปจากความเป็นจริงก็ได้ ดังเช่น การที่เราเป็นบุคคลที่มีลักษณะอย่างหนึ่งแต่เราอาจะเห็นตนเองเป็นอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งผิดไปจากลักษณะจริง ๆ ของตนเองได้
หากจะเปรียบเทียบภาพวงกลมทั้งหมด คือ “อัตตา” ของบุคคลตามความเป็นจริงโดยธรรมชาติ ส่วนภาพสี่เหลี่ยมเป็นตัวแทนของ “อัตมโนทัศน์” หรือแนวความคิดของบุคคลนั้น ๆ เกี่ยวกับตนเอง ซึ่งได้กล่าวแล้วว่าการมองเห็นตนเองของบุคคลนั้นบางครั้งก็คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้ เช่น ธรรมชาติบางอย่างบุคคลเห็นว่าตนเป็นเช่นนั้น แต่ความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ หรือธรรมชาติบางอย่างบุคคลมีอยู่และเป็นอยู่ แต่ตนเองไม่รู้ เป็นต้น
นักจิตวิทยาที่ได้ใช้ความหมายของ “อัตตา” และ “อัตมโนทัศน์” ในความหมายเดียวกันนั้นตรงที่อธิบายได้ว่า อัตตาหรืออัตมโนทัศน์เปรียบเสมือนความเป็นบุคคลนั้น ๆ ซึ่งแตกต่างจากบุคคลอื่น และวัตถุอื่น ๆ ในโลกภายนอกบุคคลนั้น ดังนั้นความเป็นบุคคลนั้น ๆ ขึ้นอยู่กับที่บุคคลมองเห็นตนเองอย่างไร แต่อย่างไรก็ดีพัฒนาการของ อัตตา และอัตมโนทัศน์ เกิดขึ้นไปด้วยกันในครรลองของชีวิตที่เจริญเติบโตขึ้นมา ทำให้บุคคลหนึ่งต่างจากบุคคลอื่น ๆ ทั้งในแง่ค่านิยม เจตคติ ความรู้สึก ความคิด และความต้องการในชีวิต ซึ่งเป็นผลให้การแสดงออกของบุคคลต่างกันออกไป
สิ่งสำคัญที่ทำให้การมองเห็นตนเอง หรืออัตมโนทัศน์ต่างออกไปจากความเป็นจริงของบุคคลนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุหลายประการ ตั้งแต่การรับรู้ของบุคคล ความรู้สึกนึกคิด สิ่งแวดล้อม และการอบรมเลี้ยงดู ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้บุคคลได้เกิดการเรียนรู้ “ความเป็นจริง” ทั้งที่เกี่ยวกับตนเองและสิ่งอื่น ๆ รอบตัวนั้นมีมากน้อยแค่ไหน เช่น การที่เด็กคนหนึ่งได้รับการบอกให้รู้อยู่ตลอดเวลาว่า “เธอน่ะเป็นเด็กโง่” และ ถูกว่ากล่าวตอกย้ำอยู่ตลอดเวลาทุกครั้งที่แสดงความคิดเห็น รวมทั้งความเห็นไม่ได้รับการยอมรับ นาน ๆ เข้าเด็กผู้นั้นจะค่อย ๆ รู้สึกไปเองว่าตนเองโง่ และความรู้สึกที่ติดค้างอยู่เช่นนั้นจะค่อย ๆ สะสม และในที่สุดเด็กผู้นั้นจะมองเห็นตนเองเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ทั้งที่ตามความเป็นจริงหรืออัตตาจริง ๆ ของเด็กผู้นั้นอาจไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นก็ได้ และนั่นคือที่มาของความคลาดเคลื่อนระหว่าง อัตมโนทัศน์และอัตตา
อย่างไรก็ดีในการศึกษาเรื่อง “อัตตาและอัตมโนทัศน์”นับเป็นการศึกษาในเรื่องเดียวกันทั้งในเรื่องพัฒนาการ และส่วนประกอบ ซึ่งในที่นี้จะใช้คำว่า “อัตมโนทัศน์” แทน
พัฒนาการของอัตมโนทัศน์ อัตมโนทัศน์เริ่มพัฒนามาตั้งแต่วัยทารก เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต โรเจอร์ (Sturat and Sundeen, 1983 : 8-9) กล่าวว่า ขณะที่ทารกเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อม มโนทัศน์แห่งตน ซึ่งได้รับจากประสบการณ์จะเกิดขึ้น แม้ในขณะที่ยังไม่สามารถใช้ภาษาพูด ทารกจะเริ่มรู้จักว่าสิ่งใดคือฉัน สิ่งใดเป็นฉันในระยะแรกของชีวิต กระบวนการแยกตัวเองเป็นไปได้ช้า ต่อมาเมื่อเริ่มพูดได้ การใช้ภาษาจะช่วยให้มโนทัศน์แห่งตนพัฒนาได้ชัดเจนขึ้น ในระยะนี้ทารกเริ่มแบ่งแยกสิ่งที่ตนชอบหรือไม่ชอบ และให้ค่านิยมตามประสบการณ์ที่ได้รับ ประสบการณ์ที่ดีจะส่งเสริมตนให้ค่านิยมในทางบวก ประสบการณ์ที่ไม่ดีให้ค่านิยมในทางลบ ประสบการณ์เกี่ยวกับตนที่สำคัญในวัยทารก ได้แก่ การได้รับความรัก หรือเป็นที่รักของบิดามารดา ซึ่งการเลี้ยงดูเอาใจใส่ ความรัก ความอบอุ่น การทะนุถนอมที่ได้รับเป็นประสบการณ์ที่สร้างความพึงพอใจ และมีอิทธิพลต่ออัตมโนทัศน์ เพราะสิ่งเหล่านี้บอกให้รู้ว่าตนเป็นที่ต้องการและมีคุณค่า มีความผูกพันในสัมพันธภาพกับบิดา มารดา ต่อมาเมื่อบุคคลเริ่มรับรู้การประเมินผลเกี่ยวกับพฤติกรรมและคุณลักษณะของตนจากบุคคลที่ใกล้ชิดโดยเฉพาะบุคคลที่มีความสำคัญ ทำให้ได้ขยายการรับรู้เกี่ยวกับตนเองเพิ่มมากขึ้น จึงกล่าวได้ว่าในระยะแรกนั้น บิดา มารดา เป็นบุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาอัตมโนทัศน์ของเด็ก และเมื่อเด็กเติบโตขึ้นก็มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ ประสบการณ์และการประเมินผลทางสังคมที่ได้รับ จะทำให้เด็กได้รู้จักตนเองมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันวัฒนธรรมและแบบแผนทางสังคมก็มีส่วนอย่างมากต่อการพัฒนาอัตมโนทัศน์ และบุคลิกภาพของบุคคล
ดังได้กล่าวแล้วว่าอัตมโนทัศน์พัฒนาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อมรวมทั้งประสบการณ์ที่บุคคลรับรู้โดยการแปลผลจากบุคคลผู้เป็นเจ้าของ บุคคลจึงมักสนใจที่จะเปรียบเทียบแนวคามคิดเกี่ยวกับตนต่อมาตรฐานที่ยึดถือในสังคม บุคคลจะรับรู้ว่าตนเป็นเช่นไร จากความคิดเห็นของบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง อัตมโนทัศน์ จึงพัฒนาตามวัยและวุฒิภาวะจากประสบการณ์ และสามารถพัฒนาไปในทางที่ดี หรือไม่ดีก็ได้ ขึ้นกับการเรียนรู้และประสบการณ์เหล่านั้น อัตมโนทัศน์จะมีการพัฒนาไปได้เรื่อย ๆ ตามระดับวุฒิภาวะและสิ่งแวดล้อม ไม่มีการจำกัดเวลา และขอบเขตและเปลี่ยนแปลงไปตามอายุของบุคคลนั้น ๆ รวมทั้งยังมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับสภาพอารมณ์ เช่น ความวิตกกังวล การปรับตัวทางด้านจิตใจ สภาพจิตอารมณ์ของบุคคลอีกด้วย
บุคคลที่มีอัตมโนทัศน์ที่อ่อนแอ หรือมีความรู้สึกเกี่ยวกับตนไปในทางลบ มักจะขาดความเชื่อมั่นในตนเอง การรับรู้ต่อสิ่งต่าง ๆ มักจะอยู่ในวงแคบ และมักจะเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง มักจะหวั่นไหวง่าย ระดับความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมักจะสร้างเกราะป้องกันตนเองสูงตรงกันข้ามกับบุคคลที่มีอัตมโนทัศน์ที่เข้มแข็ง หรือมีความรู้สึกเกี่ยวกับตนเองไปในทางบวก มักเป็นผู้ที่เปิดเผยและน่าเชื่อถือ ทั้งนี้เพราะมีพื้นฐานของประสบการณ์ ซึ่งได้รับการยอมรับจากบุคคลอื่น ประสบความสำเร็จในการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น อัตมโนทัศน์ในทางที่ดีเป็นผลให้เกิดการรับรู้ที่ถูกต้อง
2.1 ส่วนประกอบของอัตมโนทัศน์ ไดรเวอร์ (Driver, marie J, 1976 อ้างตามทัศนา บุญทอง,2544) นักจิตวิทยา ได้แบ่งอัตมโนทัศน์ออกเป็น 2 ด้าน คือ อัตมโนทัศน์ด้านร่างกาย (physical self) และอัตมโนทัศน์ด้านส่วนตัว (personal self)
2.1.1 อัตมโนทัศน์ด้านร่างกาย (Physical Self) หมายถึง การรับรู้เกี่ยวกับร่างกายของตนเองซึ่งอธิบายได้ใน 2 ลักษณะ คือ ความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกาย และความสามารถในการควบคุมการทำหน้าที่ของร่างกายให้เหมาะสมกับเวลาและสถานที่ การรับรู้เกี่ยวกับร่างกายของตนเองยังครอบคลุมไปถึงการรู้จักตนเองในทางสรีรภาพตามความเป็นจริงที่ตนเป็น เช่น ฉันเป็นคนสูง เตี้ย ดำ ขาว อ้วน ผอม ตามลักษณะที่เป็นอยู่และตนเองรับรู้
2.1.2 อัตมโนทัศน์ส่วนบุคคล (Personal Self) หมายถึง การรับรู้ของบุคคลเกี่ยวกับคุณค่าของตนเอง เป็นความรู้สึกที่เป็นส่วนตัวบุคคลมีเกี่ยวกับตนเอง ทั้งในด้านความเชื่อ ค่านิยม อุดมคติ ความคาดหวัง และปณิธานในชีวิต สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีผลต่อการดำเนินชีวิตของบุคคล ความเชื่อมั่น และความรู้สึกในคุณค่าของตนเอง อัตมโนทัศน์ส่วนบุคคลนี้รวมถึงลักษณะทางด้านร่างกาย หากแต่เป็นนามธรรมซึ่งมองได้ไม่ชัดเจน ต้องใช้การสังเกต และพบได้บ่อยที่ผู้อื่นมองอาจไม่ตรงกับที่เจ้าตัวมองตนเอง อัตมโนทัศน์ส่วนบุคคลนี้แบ่งออกได้เป็น
1)อัตมโนทัศน์ด้านศีลธรรมจรรยา (Moral-ethical self) เป็นการรับรู้เกี่ยวกับความถูกผิด ดีเลว ที่บุคคลประเมินตนเอง อันเกิดจากการกระทำหรือความประพฤติที่ฝ่าฝืนค่านิยมทางศีลธรรมจรรยาที่ตนเองยอมรับ และยึดถืออยู่ในใจ
2)อัตมโนทัศน์ด้านความสม่ำเสมอแห่งตน (Self-consistency) เป็นความรู้สึกเกี่ยวกับตนเองในลักษณะประจำตัวซึ่งคงที่บางประการของเรเาอง เช่น เรารู้จักตนเองว่าเป็นคนใจคอเยือกเย็น หนักแน่น ซึ่งคุณสมบัตินี้เรารู้ว่าเรามีอยู่มานานแล้ว จนกระทั่งขณะนี้เราก็ยังยืนยันความรู้สึกเช่นเดิมที่มีต่อตนเองว่าเรามีลักษณะใจคอเยือกเย็น หนักแน่น หรือเรียกว่าเป็นความสม่ำเสมอแห่งความเป็นเราความเจ็บป่วยจะก่อให้เกิดความสม่ำเสมอในบุคคลเสียไป ทำให้เกิดความวิตกกังวลซึ่งมีผลกระทบต่อบุคคลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของบุคคลอีกด้วย
3)อัตมโนทัศน์ด้านปณิธานหรือความคาดหวัง (Self ideal or Self expectation) เป็นความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติเกี่ยวกับตนเองตามที่บุคคลนั้นปรารถนาจะเป็น บุคคลจะตั้งความคาดหวังเอาไว้ว่าตนจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และจะพยายามเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นอย่างที่ตั้งปณิธานเอาไว้ หากทำได้ความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อตนเองจะดีขึ้น มีความมั่นใจขึ้น แต่หากทำไม่ได้ความรู้สึกที่มีต่อตนเองจะลดลง คือรู้สึกท้อถอยและไร้คุณค่า บทบาทในสังคมเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่ออัตมโนทัศน์ด้านปณิธานหรือความคาดหวัง ทำให้มนุษย์มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสังคมไปในทางที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับความเจ็บป่วยมีผลกระทบโดยตรงต่อการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของบุคคลในหลายโอกาสที่ความเจ็บป่วยเป็นสาเหตุให้บุคคลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ทางสังคมตามบทบาทที่ตนเคยปฏิบัติตามปกติได้ ก่อให้เกิดความผิดหวัง และอาจเกิดความเศร้าใจได้หากการเสียบทบาทหน้าที่นั้นเป็นไปอย่างถาวร
2.1.3 อัตมโนทัศน์ด้านการยอมรับนับถือตนเอง (Self Esteem) เป็นความรู้สึกนึกคิดที่เกี่ยวกับตนเองในคุณค่าหลาย ๆ ด้านที่ตนเองมีอยู่ โดยตนเองเป็นผู้ประเมินจากคุณค่าที่ตนมองเห็นว่าตนมีอยู่หรือเป็นอยู่โดยเปรียบเทียบกับคุณค่าที่ตนเองปรารถนาอยากจะเป็น (Self ideal) หากตนเองมองเห็นว่าลักษณะที่ตนเป็นอยู่นั้นคล้ายคลึงหรือเหมือนกับลักษณะที่ตนอยากจะให้เป็น บุคคลจะเกิดความพึงพอใจในความเป็นตนเอง ในสถานการณ์เช่นนี้บุคคลนั้นจะมีระดับของการยอมรับนับถือตนเองสูง
ในทางตรงกันข้ามหากบุคคลมองเห็นว่าลักษณะที่ตนเป็นอยู่นั้นแตกต่างหรือห่างไกลจากที่ตนปรารถนาจะเป็นบุคคลจะไม่พึงพอใจในตนเอง ระดับการยอมรับนับถือตนเองจะมีน้อยขาดความมั่นใจ แสดงถึงการยอมรับนับถือตนเองต่ำ
2.2องค์ประกอบที่ทำให้อัตมโนทัศน์มีการเปลี่ยนแปลง อัตมโนทัศน์เป็นสิ่งที่ปฏิรูปมาจากประสบการณ์ และสิ่งแวดล้อม เมื่อประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงได้ อัตมโนทัศน์จึงเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ และองค์ประกอบที่ทำให้อัตมโนทัศน์เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่
2.1.1 สังคมที่อยู่อาศัย การเป็นที่ยอมรับหรือไม่ยอมรับจากสังคมที่ตนอาศัยอยู่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตมโนทัศน์ของบุคคล ทั้งในทางที่ดีขึ้นหรือเลวลง
2.1.2 ผู้ใกล้ชิดและมีอิทธิพลเหนือพัฒนาการของบุคคลนั้น เช่น บิดา มารดา ครู ญาติ หรือเพื่อนสนิท ความไว้วางใจ ความเชื่อถือ ทัศนคติที่คนเหล่านี้มีต่อบุคคลนั้น มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตมโนทัศน์ของบุคคลผู้นั้น
2.1.3 ปณิธานของบุคคลเอง เมื่อบุคคลตั้งปณิธานว่าอยากจะเห็นตนเองเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง และพยายามเปลี่ยนตัวเองตามนั้น ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอัตมโนทัศน์ไปตามปณิธานที่ตนตั้งไว้ เป็นต้น
3. ความตระหนักในตนเอง หรือ การรู้สติในตนเอง (Self awareness)
ความตระหนักในตนเอง เป็นภาวะซึ่งบุคคลรู้สึกตัวหรือรู้สติในความเป็นตัวเอง และสิ่งแวดล้อมรอบตัวขณะนั้น เป็นความรู้สติของบุคคลครอบครัวถึงความคิด ความรู้สึก และการกระทำของตนในขณะนั้น รวมไปถึงความรู้สติของบุคคลในแง่ที่ว่าตนเป็นใคร และตนรู้สึกอย่างไรในขณะนั้น
ความตระหนักในตนเอง หรือความรู้สึกในความเป็นตนเองจึงถือเป็นปัจจุบัน ซึ่งบุคคลรับรู้และเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตขณะนั้น ๆ มีความหมายตรงกันข้ามกับประสบการณ์และการรับรู้ซึ่งบุคคลได้จากการเรียนรู้ว่า อะไรคือสิ่งที่ “ควร” หรือ “ไม่ควร” และความรู้สติในความเป็นตนเองยังมีความหมายตรงกันข้ามกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำที่ได้ผ่านมาแล้วในอดีตหรือที่จะกระทำต่อไปในอนาคต หากแต่การรู้สติในตนเองเป็นความรู้สึกที่บุคคลรับรู้ถึงสภาวะการณ์แห่งตนขณะนั้นโดยเฉพาะความตระหนักในตนเอง นอกจากจะต้องรู้จักว่าตนเป็นใครแล้วยังรวมถึงการรู้สติด้วยว่าอะไรที่ทำให้ตนเป็นอย่างที่กำลังเป็นอยู่ แนวความคิดเป็นไปในลักษณะไหน และอะไรคือสิ่งที่คาดหวัง เป็นต้น
บุคคลจะต้องเป็นผู้ตระหนักในตนองได้ จะต้องรู้จักตนเองอย่างดี การรู้สติในตนเอง จึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับ “ตน” และมโนทัศน์แห่งตน กล่าวคือบุคคลจะต้องเป็นผู้รู้จักตนและมโนทัศน์แห่งตนเท่านั้นจึงจะเป็นผู้มีความตระหนักในตนเองได้ และการรู้จักตนเองนี้จะต้องครอบคลุมภาพลักษณ์แห่งตน (self image) อุดมการณ์ที่ตนมี (self ideal) และความสำนึกในคุณค่าแห่งตน (self esteem) นอกจากนั้นแล้วระดับของความตระหนักในตนเองจะมีมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัย 5 ประการ ได้แก่ 1) ระดับวุฒิภาวะของบุคคล 2) สภาวะสุขภาพ 3) ภูมิหลังด้านขนบธรรมเนียมประเพณี 4) สิ่งแวดล้อมทั่วไป และ 5) สัมพันธภาพที่บุคคลมีต่อบุคคลอื่นทั่วไป
โดยปกติแล้วความตระหนักในตนเองจะพัฒนาเป็นกระบวนการต่อเนื่องไม่มีวันจบสิ้นจึงไม่มีบุคคลใดที่มีความตระหนักในตนเองหรือรู้สติในตนเองสมบูรณ์ครบถ้วนถึงระดับสูงสุดที่ไม่ต้องมีความตระหนักในสิ่งใดเพิ่มเติมอีก หากแต่ความตระหนักในตนเองสามารถพัฒนาเพิ่มขึ้นได้เรื่อย ๆ นักจิตวิทยาเชื่อว่าความสุขในชีวิตเป็นประสบการณ์ที่ดีที่จะช่วยให้บุคคลได้เพิ่มความตระหนัก หรือรู้สติในตนเองได้ดีขึ้น
ความตระหนักในตนเองซึ่งพยาบาลจิตเวชใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลผู้ป่วยทางจิตเวชหรือที่เรียกว่าเป็นเครื่องมือในการบำบัดทางจิตนั้นประกอบด้วย ความตระหนัก 2 ประการใหญ่ ๆ คือ
3.1ความตระหนักในตนเองในฐานะบุคคล (Self as a Person) ในความจริงที่ว่าความเป็นตนเองของแต่ละคนแตกต่างกัน แต่ละคนมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง มีแบบแผนของตนในเรื่องค่านิยม เจตคติ ความรู้สึก แนวความคิดและความต้องการ ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้เป็นผลมาจากพันธุกรรมซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกันตั้งแต่กำเนิดแล้ว ยังมีความเชื่อและค่านิยมซึ่งพัฒนาขึ้นจากแต่ละครอบครัว แต่ละสังคม วัฒนธรรม การศึกษา และสัมพันธภาพที่บุคคลมีต่อบุคคลอื่น ๆ เหล่านี้มีผลทำให้แต่ละคนไม่เหมือนกัน ความไม่เหมือนกันเหล่านี้พยาบาลจิตเวชจะต้องตระหนักว่า ตนเองเป็นอย่างไร เพราะในฐานะที่ต้องเป็นผู้ให้การพยาบาลผู้ป่วยจิตเวช พยาบาลจิตเวชจะต้องเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในตัวผู้ป่วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พยาบาลจิตเวชจะเป็น “ผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” (chang agent) ในตัวผู้ป่วยในทิศทางของผู้มีสุขภาพจิตสมบูรณ์ ดังนั้น ไม่ว่าสิ่งที่พยาบาลจิตเวชแสดงออกในลักษณะของการกระทำ การพูด การคิด หรือการรู้สึก จะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอันจะเกิดขึ้นต่อตัวผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นทิศทางที่ถูกต้องที่ควรจะเป็น หรือในทางที่ไม่ถูกต้องก็ตาม
3.2เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงที่พยาบาลจิตเวชมุ่งหวังจะให้เกิดขึ้นในตัวผู้ป่วย คือ การเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่จะเป็นประโยชน์ คือ การพัฒนาบุคลิกภาพและแนวคิดตามความเป็นจริง และความตระหนักนี้จะต้องมีอยู่ตลอดเวลา ความตระหนักในตนเองในฐานะบุคคลว่าตนเองเป็นบุคคลลักษณะไหน และความตระหนักนี้จะต้องมีอยู่ตลอดเวลา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง พยาบาลจิตเวชจะต้องมีสติในความเป็นตนเองในฐานะบุคคลดังตัวอย่างต่อไปนี้
-ค่านิยมอย่างไรที่ฉันยึดถืออยู่
-อะไรคือสิ่งที่รบกวนฉัน (สิ่งที่ฉันไม่ชอบ)
-อะไรที่ทำให้อารมณ์ฉันเปลี่ยน และเปลี่ยนไปในลักษณะไหน
-ฉันเป็นคนประเภท “อะไรก็ได้” ทั้งต่อตนเองและกับผู้อื่นหรือไม่
-อุปนิสัยของฉันเป็นอย่างไร รวมทั้งรูปร่างลักษณะ ท่าทาง และการพูด
-ฉับตอบโต้ต่อสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างไร
-ฉันมองเห็นความสามารถของตนเองเกินกว่าหรือต่ำกว่าความเป็นจริง
-ฉันตัดสินใจอะไรได้ยากหรือง่ายเพียงใด
-ฉันชอบและนับถือตนเองบ้างไหม
-ฉันมีความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ อย่างไร
-ฉันใช้ชีวิตอย่างไร (ปฏิบัติตนอย่างไร) ในชีวิตที่ผ่านมา
-ฉันเป็นคนเข้าใจคนอื่นหรือไม่
คำถามเหล่านี้จะช่วยให้เราได้ประเมินเพื่อทำความรู้จักตนเอง และจากคำตอบที่ได้จะบอกเราอย่างคร่าว ๆ ว่าเราเป็นคนอย่างไร เราดำเนินชีวิตประจำวัน ตอบโต้ต่อบุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อมอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราได้ตระหนักในความเป็นเรา และข้อดี ข้อจำกัดอย่างไร ในการที่เราจะต้องประพฤติเพื่อดูแลผู้อื่นที่มีความบกพร่องทางด้านจิตใจและอารมณ์
3.3ความตระหนักในตนเองในฐานะวิชาชีพ (Self as a Professional) นอกจากพยาบาลจิตเวชจะต้องตระหนักในตนเองในฐานะบุคคลแล้ว ยังต้องมีความตระหนักในตนเองในฐานะวิชาชีพนั้นมีผลอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในตัวผู้ป่วย พยาบาลจิตเวชจึงต้องรู้จักตนเองในฐานะวิชาชีพซึ่งครอบคลุมสิ่งต่อไปนี้ เช่น ลักษณะสัมพันธภาพที่มีต่อเพื่อนพยาบาลด้วยกันลักษณะนั้นเป็นสภาพที่มีต่อเพื่อนร่วมงานในทีม ระดับของความจริงใจ และทุ่มเทต่อวิชาชีพการพยาบาล และต่องานพยาบาลจิตเวช การเข้ามีส่วนร่วมในองค์กรวิชาชีพการพยาบาล ระดับความรู้และการมีส่วนร่วม แหล่งบริการในสังคมและชุมชน
ตัวอย่างข้อคำถามเพื่อประเมินการรู้จักตนเองในฐานะวิชาชีพ
-ความรู้พื้นฐานการพยาบาลที่ได้ศึกษามาอยู่ในระดับไหน
-ความรู้ด้านการพยาบาลจิตเวชที่ได้ศึกษามามากน้อยเพียงใด
-ฉันได้นำความรู้ที่ได้เรียนมามาใช้มากน้อยเพียงใด
-อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ฉันเลือกวิชาชีพการพยาบาล
-อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ฉันเลือกปฏิบัติทำงานด้านการพยาบาลจิตเวช
-ฉันมีความพอใจต่องานที่ทำมากน้อยเพียงใด
-ฉันได้ระมัดระวังและปฏิบัติตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพมากน้อยเพียงใด
-ฉันเคยมีความหวังอย่างไรเกี่ยวกับวิชาชีพและงานของฉัน
การประเมินผลตนเองดังกล่าวแล้วนี้ พยาบาลสามารถทำได้เอง ข้อพึงระวังคือจะต้องกระทำอย่างเป็นกลางการประเมินจะช่วยให้พยาบาลได้รูจักตนเองมากขึ้นทั้งตนเองในฐานะบุคคลและในฐานะพยาบาลวิชาชีพ จะได้เรียนรู้จุดบกพร่องต่าง ๆ อันจะมีผลต่อการใช้ตนเองเป็นสื่อในการบำบัดผู้ป่วยทางจิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังเช่น หากพยาบาลรู้จักตนเองดีว่าในการพยาบาลผู้ป่วยเด็กซึ่งป่วยหนักและกำลังใกล้ตายนั้น ตนเองมีความรู้สึกบีบคั้นกระทบกระเทือนใจมากและตนเองมักจะรู้สึกซึมเศร้า และร้องไห้เสียเอง พยาบาลผู้นี้ก็ย่อมจะรู้ตัวดีว่าการดูแลผู้ป่วยเด็กป่วยหนักนั้นไม่เหมาะกับตน เพราะตนคงจะช่วยเด็กและครอบครัวได้ไม่ดีเท่าที่ควร พยาบาลที่จะเลือกปฏิบัติงานในสถานการณ์เช่นนี้ได้จะต้องตระหนักตนเองเป็นอย่างดีว่า ตนเองมีความมั่นคงพอที่จะช่วยผู้ป่วยและครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ การไม่รู้จักตนเองและไม่ตระหนักในตนเองจะทำให้เกิดผลเสียต่อการพยาบาลโดยเฉพาะการดูแลการด้านจิตใจกล่าวคือ พยาบาลผู้นั้นอาจจะแสดงออกโดยการหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยหรือให้การสนับสนุนด้านจิตใจต่อบิดามารดาของเด็กในเรื่องความรู้สึกเสียใจ ความกลัว และความกังวลที่จะสูญเสียบุตรก็ได้

การพัฒนาการรู้จักตนเอง
การพัฒนาการรู้จักตนเอง คือ ความพยายามที่บุคคลจะทำให้การรับรู้เกี่ยวกับตนเอง (self perception) หรือที่เรียกว่า “อัตมโนทัศน์” ตรงกับความเป็นจริงตามธรรมชาติที่บุคคลนั้นเป็นอยู่ คือ ตรงกับ “อัตตา” ของบุคคลนั้นนั่นเองการ พัฒนาการรู้จักตนเองจึงสามารถกระทำได้โดยการพัฒนาความตระหนักในตนเอง หรือความมีสติในตนเอง ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้นว่า ความเป็น “อัตตา” จริง ๆ ตามธรรมชาติของบุคคลนั้นอาจจะมีความคลาดเคลื่อนกันอยู่บ้างกับสิ่งที่ตนคิดว่าตนเป็น หรืออัตตาที่เรามองเห็นตัวเรา ที่เรียกว่า “อัตมโนทัศน์” และความคลาดเคลื่อนนี้เองที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้ง ไม่ประสมประสานของบุคคลนั้นในการอยู่ร่วมกันกับบุคคลอื่น ตามความเป็นจริงในสังคม บุคคลที่สามารถมองเห็นตนเองได้ตรงกับที่ตนเป็นจริง คือ ผู้ที่รู้จักตนเองได้อย่างดีนั่นเอง หากบุคคลสามารถรู้จักตนเองเป็นอย่างดีตามความเป็นจริงแล้ว บุคคลนั้นจะสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข กล่าวคือ บุคคลจะเปิดเผย จริงใจ และการแสดงออกของบุคคลนั้นจะไม่ต้องปกปิดและบุคคลอื่นก็จะสามารถ “รู้จัก” บุคคลนั้นได้ตามความเป็นจริงอีกด้วย ในทางตรงกันข้ามบุคคลที่ไม่รู้จักตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตนเองในส่วนที่บกพร่องจะเป็นสาเหตุของความขัดแย้งและความทุกข์ทั้งมวล บุคคลที่ไม่รู้จักตนเองจะไม่สามารถใช้ตนเองเป็นสื่อในการบำบัดทางจิตแก่ผู้อื่นได้ การรู้จักตนเองจะมีได้มากหรือน้อย หรือตรงตามความเป็นจริงแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับระดับของความตระหนักหรือการรู้สติในตนเองที่บุคคลนั้นมีอยู่ ความตระหนักในตนเองจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคคลจะต้องทำความเข้าใจ และหาคำตอบว่าตรงส่วนไหนในความเป็นเราเองที่เรายังไม่ตระหนัก ทั้งนี้การตระหนักในตนเองจะทำให้บุคคลได้เข้าใจตนเอง และทำให้มนุษย์อยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุข ขอบเขตของความตระหนักในตนเองของบุคคล ชีวิตมนุษย์เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลง เมื่อชีวิตดำเนินไป มนุษย์มีประสบการณ์มากขึ้น การเรียนรู้เพิ่มขึ้นความเป็น “ตนเอง” หรืออัตตาของบุคคลจะค่อย ๆ เปลี่ยนไปด้วย และมนุษย์แต่ละคนรู้จักตนเอง และมีความตระหนักในความเป็นตนเองในขอบเขตที่ไม่เท่ากัน บางคนตระหนักในตนเองได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงและในขอบเขตที่กว้าง ในขณะที่บางคนตระหนักในตนเองแตกต่างจากความเป็นจริงโดยธรรมชาติและยังรู้จักตนเองเพียงนิดเดียวหรือในขอบเขที่แคบอีกด้วย
ในการศึกษาถึงความตระหนักในตนเอง นักจิตวิทยามีความเห็นพ้องต้องกันว่าไม่มีผู้ใดตระหนักในตนเองได้หมดทุกแง่ทุกมุม มีอัตตาเพียงบางส่วนเท่านั้นที่บุคคลตระหนัก หากบางส่วนซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ภายใน (inner self) บุคคลอาจไม่ได้ตระหนักเสียก็ได้
โจเซฟ ลัฟท์ (Joseph Luft) และแฮรี อินแกม (Harry Ingham) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับความตระหนักในตนเองในบุคคล และอธิบายแนวคิดที่ว่าความตระหนักในตนเองจะเป็นไปได้หรือไม่เพียงใดนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคคลแต่เพียงฝ่ายเดียว หากขึ้นอยู่กับบุคคลอื่นที่บุคคลนั้นมีปฏิสัมพันธ์ด้วยในกระบวนการดำเนินชีวิตหากจะเปรียบ “ตนเอง” ในธรรมชาติทั้งหมดของบุคคลหนึ่งโดยสัมพันธ์กับความตระหนักที่บุคคลจะพึงมีต่อความเป็นตนเอง แบ่งได้เป็น 4 ส่วน

ส่วนที่ 1 บริเวณเปิดเผย (Open Area) อัตตาในส่วนนี้เป็นส่วนที่เปิดเผย ตนเองตระหนักในความเป็นตนเองอย่างดี และบุคคลอื่นก็เห็นด้วย และรู้จักเราตรงตามที่เราเป็นอยู่ว่าเราเป็นบุคคลลักษณะไหน (public self ) และตรงกับที่เรารู้จักตนเองด้วย ทั้งด้านความคิด ความรู้สึก หรือการกระทำ เช่น เรารู้จักตนเองดีว่าเราเป็นคนใจร้อน โกรธง่าย และคนอื่น ๆ ใกล้ชิดเราก็รู้จักเราตรงตามความจริงที่ว่าเราเป็นคนใจร้อน และโกรธง่าย เป็นต้น
ส่วนที่ 2 บริเวณจุดบอด (Blind Area) เป็นอัตตาในส่วนที่ผู้อื่นมองเห็นอยู่ว่า เราเป็นคนอย่างไร แต่เราเองไม่รู้หรือไม่ได้ตระหนักว่าเราเป็นดังเช่นที่ผู้อื่นมอง ทั้งด้านความคิด ความรู้สึก หรือการกระทำ บริเวณนี้จึงเป็นจุดบอด (semi public area) เช่น เราเป็นคนอคติเห็นแก่ตัว และเอาเปรียบผู้อื่น แต่เราไม่เคยตระหนักในธรรมชาติส่วนนี้เลย หากแต่ผู้อื่นได้มองเห็นในสิ่งเหล่านี้อย่างชัดเจน เป็นต้น
ความตระหนักในตนเองในส่วนนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อบุคคลได้รับทราบจาการบอกกล่าวของบุคคลอื่นโดยที่เจ้าตัวจะต้องรับฟัง พิจารณา และยอมรับ
ส่วนที่ 3 บริเวณความลับ (Hidden Area) ธรรมชาติของความเป็นตนเอง บางส่วนของเรา เราซึ่งเป็นเจ้าของตระหนักเป็นอย่างดี หากแต่บุคคลอื่นไม่รู้ ไม่เคยรับทราบ และเราเองก็พยายามปกปิดไม่ให้ผู้อื่นรู้ เพราะความคิด ความรู้สึก หรือพฤติกรรมบางอย่างไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม เจ้าตัวจึงปิดไว้เป็นความลับ (private self) เช่น เจ้าตัวตระหนักดีว่าเราเป็นคนชอบอิจฉาริษยา แต่เราพยายามปกปิดความรู้สึกเช่นนั้นไว้อย่างมิดชิด ไม่ให้ผู้อื่นรู้ เพราะความรู้สึกดังกล่าวเป็นสิ่งที่สังคมไม่นิยมยกย่อง เป็นต้น
บุคคลที่มีอัตตาในส่วนนี้มากจะเป็นคนเข้าใจยากและลับลมคมใน มีสิ่งซ่อนเร้นปกปิด การสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นก็เกิดขึ้นได้ยาก อัตตาในส่วนนี้จะเป็นที่เปิดเผยต่อผู้อื่นก็ต่อเมื่อเจ้าตัวบอกให้ผู้อื่นทราบ
ส่วนที่ 4 บริเวณอวิชา (Unknown Area) เป็นอัตตาที่อยู่ในส่วนลึกของบุคคล (inner self) เป็นส่วนประกอบของธรรมชาติส่วนที่เป็นพื้นฐานเดิมซึ่งยังซ่อนเร้นอยู่ในส่วนลึกตัวเองก็ไม่รู้ และบุคคลก็ไม่รู้ และบุคคลอื่นก็ไม่รู้ อาจจะปรากฏออกมาให้เห็นได้โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ตระหนัก เช่น พฤติกรรมหรือสัญชาตญาณดั้งเดิมที่บุคคลมีอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก เป็นต้น อัตตาในส่วนนี้จะเป็นที่เปิดเผยได้อาจต้องใช้วิธีการทางจิตวิทยาในการวิเคราะห์เพื่อดึงขึ้นมาสู่ระดับจิตสำนึก
ความตระหนักในตนเองของมนุษย์แต่ละคนมีไม่เท่ากัน คนที่มีความตระหนักในตนเองน้อย คือบุคคลที่ไม่รู้จักตนเอง บริเวณเปิดเผยในส่วนที่ 1 จะแคบ บริเวณอื่น ๆ จะกว้าง ในทางตรงกันข้ามบุคคลที่มีความตระหนักในตนเองอย่างดี บริเวณเปิดเผยในส่วนที่ 1 จะกว้าง แต่บริเวณอื่น ๆ จะแคบ นั่นคือบุคคลนั้นเป็นผู้รู้จักตนเองดี ไม่มีอะไรที่ตนเองไม่รู้เกี่ยวกับธรรมชาติของตนและไม่มีอะไรที่ตนจะต้องปิดบังซ่อนเร้นไว้เป็นความลับ เป็นต้น

การพัฒนาความตระหนักในตนเอง
ความตระหนักในตนเองเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ และวิธีการพัฒนา คือการพยายามค้นหาตนเองให้พบ (self discovery) และตอบคำถามให้ได้ว่าตนคือใคร กระบวนการในการพัฒนาความตระหนักในตนเองจึงไม่ใช่ของง่าย ผู้ที่จะพัฒนาความตระหนักในตนเองได้ดีจะต้องมีความกล้า มีความเชื่อมั่น และยอมรับ รวมทั้งต้องมีเจตคติที่ดีต่อการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย เพราะการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับตนเองบางอย่างเป็นความรู้สึกเจ็บปวด และเสียหน้า บุคคลจะต้องยอมรับให้ได้ว่าไม่มีใครในโลกที่สมบูรณ์พร้อมและไม่มีอะไรต้องแก้ไข การยอมรับและพัฒนาจะช่วยให้บุคคลได้มีความตระหนักในตนเองมากขึ้น และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขขึ้น
โจเซฟ ลัฟท์ และ แฮรี อินแกม ได้เสนอแนะแนวทางการพัฒนาความตระหนักในตนเองจากหน้าต่าง โจ-แฮรี (Jo-Harri Window) ว่า คือ การพยายามขยายบริเวณเปิดเผยในส่วนที่ 1 ออกไปให้กว้างที่สุด หากบุคคลสามารถขยายส่วนที่ 1 ให้กว้างออกไปได้ บริเวณส่วนอื่น ๆ จะแคบลง การขยายบริเวณเปิดเผยในส่วนที่ 1 ให้กว้างขึ้นจะเป็นไปได้นั้น

หลักสำคัญในการพัฒนาความตระหนักในตนเอง
หลักสำคัญในการพัฒนาความตระหนักในตนเอง กระทำได้โดย 4 วิธี ได้แก่ 1) การพิจารณาตนเอง 2) การรับฟังจากบุคคลอื่น 3) การเปิดเผยตนเอง และ 4) การปฏิบัติเพื่อการตระหนักในตนเอง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1)การพิจารณาตนเอง หรือการประเมินตนเอง (self assessing) เป็นการตรวจสอบและเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตนเองทุกด้าน เพื่อทำความรู้จักตนเองที่แท้จริง โดยการประเมินตนเองใน 3 ด้าน ดังนี้
1.1ด้านร่างกาย (Physical self) หมายถึง เจตคติ การรับรู้ และความรู้สึกของบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับตนเองด้านสรีรวิทยา รวมถึงรูปร่าง หน้าตา และการทำหน้าที่ของร่างกาย ซึ่งบุคคลแต่ละคนให้ความสำคัญกับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่เท่ากัน เช่น ผู้หญิงมักให้ความสำคัญกับใบหน้ามากกว่าส่วนอื่น เป็นต้น ความรู้สึกที่บุคคลมีต่อตนเองในด้านร่างกายจะมีผลต่อความรู้สึกที่มีต่อความเป็นตนเองโดยรวม ดังเช่นบุคคลที่มีความพอใจต่อรูปร่างหน้าตาของตน มักจะมีอัตมโนทัศน์ไปในทางบวก เป็นต้น
การประเมินตนเองด้านร่างกาย สามารถทำได้โดยให้บุคคลทดลองวาดภาพ “ตนเอง” แล้วให้ลองตอบคำถามดังตัวอย่างต่อไปนี้
-การวาดภาพตัวเองมีความยากลำบากหรือไม่
-ท่านรู้สึกว่าการวาดภาพอวัยวะบางส่วนยากกว่าอีกส่วนหนึ่งบ้างหรือไม่ ตรงส่วนใด
-ท่านรู้สึกว่าอวัยวะบางส่วนมีความสำคัญเป็นพิเศษหรือไม่
-ท่านได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาของท่านบ้าง จากการวาดภาพตัวท่านเอง
1.2 ด้านอุดมการณ์หรือปณิธาน (Self ideal) ซึ่งรวมกับตนเองในทางศีลธรรมจรรยา ค่านิยม และความคาดหวังในชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นตัวเองในทางส่วนตัว อาจประเมินได้โดยการลองตอบคำถามดังตัวอย่างต่อไปนี้
-ท่านประสงค์จะให้รูปร่างหน้าตาของท่านเป็นไปในลักษณะใด
-ท่านประสงค์อะไรในการมีสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น
-ท่านต้องการให้บุคคลอื่นมองเห็นว่าท่านเป็นคนลักษณะใด
-ท่านปรารถนาที่จะกระทำสิ่งใดบ้างหรือไม่ในขณะนี้และในอนาคต
-อะไรคือสิ่งที่ท่านยึดถือปฏิบัติเป็นกิจวัตร
-อะไรคือสิ่งที่ท่านว่าไม่ควรปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
-ความดีในความเห็นของท่านคืออะไร
-ความไม่ดีในความเห็นของท่านคืออย่างไร
1.3 ด้านความสำนึกในคุณค่าแห่ตน (Self esteem) เป็นการประเมินถึงความรู้สึกการมีคุณค่าแห่งตน บุคคลจะประเมินได้จากการเปรียบเทียบจากเกณฑ์ที่ตนตั้งไว้ หรือโดยการเปรียบเทียบกับบุคคลอื่น ๆ หากความรู้สึกที่บุคคลมีต่อตนเองในปัจจุบันต่ำกว่าความคาดหวังที่บุคคลได้ตั้งไว้ ระดับของความรู้สึกมีคุณค่าแห่งตนจะต่ำ ในทางตรงกันข้ามหากความรู้สึกที่บุคคลมีต่อตนเองในปัจจุบันเป็นไปตามที่ตนได้ตั้งปณิธานไว้ บุคคลจะรู้สึกว่าตนมีคุณค่าและยอมรับนับถือตนเอง เป็นต้น
การประเมินความรู้สึกมีคุณค่าอาจกระทำได้โดยการทดลองตอบคำถามดังตัวอย่างต่อไปนี้
-ท่านพึงพอใจการปฏิบัติตนของท่านเกี่ยวกับงานหรือไม่
-ท่านพึงพอใจการปกิบัติตนในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างที่ท่านปฏิบัติอยู่หรือไม่
-ลองทบทวนความรู้สึกที่ท่านเคยรู้สึกต่อตัวท่านเองในทางที่เลวร้ายที่สุดที่เพิ่งผ่านไป คืออะไร ท่านได้กระทำอย่างไร และท่านได้เคยคาดหวังอะไรไว้ในสิ่งนั้น ๆ
การประเมินจากข้อคำถามดังกล่าวมาแล้วจะช่วยให้บุคคลได้รับรู้ความเป็นตนเองโดยรวม ในส่วนที่เรียกว่า “อัตมโนทัศน์” ซึ่งยังไม่เพียงพอ บุคคลยังต้องประเมินความรู้ในปัจจุบันของตนด้วย และส่วนนี้คือส่วนที่เรียกว่า “ความตระหนักในความเป็นตนเอง” โดยพยายามแยกแยะความรู้สึก และค้นหาสาเหตุแห่งความรู้สึกนั้น ๆ โดยทดลองตอบคำถามดังตัวอย่างต่อไปนี้
-ฉันรู้สึกอย่างไรในขณะที่ (สบาย ไม่สบาย อึดอัด ผ่านคลาย)
-อะไรคือความรู้สึกที่ฉันกำลังเป็นอยู่ (กลัว โกรธ รู้สึกผิด บาป สนุกสนาน เศร้า)
-มีอะไรเกิดขึ้นที่ทำให้ฉันรู้สึกอย่างที่เป็นอยู่
การประเมินดังกล่าวแล้วนี้เป็นกระบวนการค้นหาตนเอง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บุคคลได้ตระหนักในตนเอง ข้อพึงตระหนักคือการประเมินตนเองจะต้องกระทำอย่างยุติธรรมและเป็นกลาง เป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลได้สำเร็จตนเองในด้านความคิด ความรู้สึก ความต้องการ ค่านิยม เป้าหมาย และปัญหาในชีวิต ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการรู้จักตนเอง
2)การรับฟังจากบุคคลอื่น การเรียนรู้จักตนเองจะสมบูรณ์ไม่ได้หากปราศจากความสัมพันธ์ที่ต้องมีกับบุคคลอื่น การมีสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นจะทำให้บุคคลได้เรียนรู้จักตนเองชัดเจนขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “บุคคลอื่นเป็นกระจกเงาที่ดีที่สุด” นั่นก็คือ บุคคลไม่สามารถรู้จักตนเองได้หมดมีธรรมชาติหลาย ๆ อย่างในบุคคลซึ่งเจ้าตัวไม่ทราบและไม่ได้ตระหนัก หากแต่บุคคลอื่นมองเห็นชัดเจน ตามที่เรียกว่าเป็นบริเวณจุดบอดในบุคคลตามการวิเคราะห์โดยหน้าต่างโจ-แฮรี ดังได้กล่าวแล้ว ธรรมชาติในส่วนนี้เจ้าตัวจะรับทราบได้ต่อเมื่อบุคคลนั้นจะต้องมีใจกว้าง เพราะทั้งนี้เป็นข้อมูลที่ทำให้บุคคลเสียหน้า เกิดความละอาย หรือไม่ทราบโอกาส บุคคลไม่ยอมรับฟังข้อมูลจากคนอื่น เป็นเพราะวิธีการให้ข้อมูลไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องตามกาลเทศะ เป็นต้น
การพัฒนาความตระหนักในตนเองโดยการรับฟังข้อมูลจากบุคคลอื่นนั้น จึงมีความสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงทั้ง 2 ด้าน คือ
2.1ด้านผู้รับฟัง จะต้องใจกว้างในการที่จะรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับตนเองอย่างเป็นกลาง พร้อมที่จะนำไปพิจารณา ไม่จำเป็นเสมอไปว่าการมองเห็นจากบุคคลอื่นจะต้องถูกต้องทั้งหมด การพิจารณาอย่างเป็นกลางจะช่วยให้ความตระหนักของบุคคลถูกต้องชัดเจนตรงตามความเป็นจริงได้มาก
2.2ด้านผู้ให้ข้อมูล เพื่อให้บุคคลได้รู้จักตนเองมากขึ้นนั้นไม่ถือว่าเป็นการประเมินบุคคล หากแต่จะต้องเป็นการให้ข้อมูลตามที่ตนสังเกตได้จากพฤติกรรมที่บุคคลแสดงออก การเสนอข้อมูลในลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “การให้ข้อมูลป้อนกลับ” (feed back) ซึ่งมีข้อควรระวัง คือ ควรกระทำด้วยความปรารถนาดี ไม่ใช่เพื่อมุ่งทำลายบุคคล การให้ข้อมูลจะต้องถูกต้องชัดเจน และเฉพาะเจาะจง เข้าใจได้ไม่คลุมเครือ บอกข้อมูลตามที่เห็นและสังเกตได้ ไม่ใช่การตัดสินพฤติกรรมตามความรู้สึกของผู้ให้ข้อมูล และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การให้ข้อมูลต้องให้เหมาะสมกับกาลเทศะและความเป็นจริง ใช้ภาษาง่าย ๆ เป็นต้น
3)การเปิดเผยตนเอง (Self disclosing) การพัฒนาความตระหนักในตนเองส่วนหนึ่งนั้นได้จากการเปิดเผยตนเอง เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง เกี่ยวกับแนวความคิด ความรู้สึก และเจตคติ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับตนเองนี้จึงเปรียบได้เสมือนหนึ่งการยืนยันว่าตนได้ตระหนักในความเป็นตนเอง และพร้อมที่จะพัฒนา และเป็นการแสดงออกในความกล้าของเจ้าตัว เพราะการเปิดเผยตนเองนี้เน้นที่การให้ข้อมูลในส่วนที่ 3 ของหน้าต่างโจ-แฮรี หรือบริเวณปิดบังซ่อนเร้น กล่าวคือ ความเป็นตนเองในส่วนนี้มีเจ้าตัวเท่านั้นที่ตระหนักอยู่ และได้ปกปิดไว้เป็นความลับตลอดเวลา ผู้อื่นไม่ได้รับรู้ การเปิดเผยตนเองจะทำให้ผู้อื่นได้รู้จักตนเองมากขึ้น และในทางกลับกันตนเองจะได้ตระหนักในความเป็นตนเองมากยิ่งขึ้น
การเปิดเผยตนเองโดยปกติแล้วอาจกระทำได้ใน 3 ลักษณะ คือ การแสดงความเห็นออกมาจากใจจริง การบอกข้อมูลเกี่ยวกับตนเองทั้งที่ผู้อื่นทราบและที่ผู้อื่นไม่เคยทราบ และการให้ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น การแสดงออกทั้งสามประเด็นนี้สัมพันธ์โดยตรงกับความคิด ความรู้สึก และค่านิยมของผู้เปิดเผยโดยตรง ดังนั้น การแสงดออกเหล่านี้จึงถือว่าเป็นการเปิดเผยตนเอง
สิ่งสำคัญที่สุดจะต้องระลึกถึงในการเปิดเผยตนเองนี้คือ จะต้องมีความจริงใจ และซื่อสัตย์ต่อความรู้สึก ความคิดของตนเอง และแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ โดยความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจและเชื่อมั่นในบุคคลที่ตนกำลังให้ข้อมูล หากการเปิดเผยตนเองได้กระทำในลักษณะเช่นนี้จะก่อให้เกิดความรู้สึกใกล้ชิดและเป็นกันเองมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคลอีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งส่งเสริมให้บุคคลได้เรียนรู้จากกันและกันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นบันไดสำคัญต่อการพัฒนาความตระหนักในตนเองเพิ่มขึ้น
4)การปฏิบัติเพื่อการตระหนักในตนเอง (Self intervening) การพัฒนาความตระหนักในตนเองเป็นกระบวนการต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องกระทำอยู่เสมอ จากกระบวนการใน 3 ขั้นตอนดังได้กล่าวมาแล้ว คือ การประเมินตนเองและพิจารณาตนเองอยู่เสมอ การรับฟังข้อมูลจากบุคคลอื่นและการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตนที่ผู้อื่นไม่ทราบให้ผู้อื่นได้รับทราบนั้น เป็นเพียงกระบวนการค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตนเองเท่านั้น ข้อมูลที่ได้ทั้งหมดเป็นเพียงดัชนีให้บุคคลได้ค้นพบตนเอง ซึ่งเป็นเพียงส่วนประกอบของความตระหนักในตนเอง ส่วนสำคัญที่เป็นเครื่องมือยืนยันให้ประจักษ์ว่าบุคคลมีความตระหนักในตนเองอย่างแท้จริงนั้นคือการที่บุคคลจะต้องนำข้อมูลที่ได้นั้นมาวิเคราะห์ตนเองอย่างละเอียด และหาแนวทางในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง (self-designed change) และลงมือปฏิบัติเพื่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงนี้อาจกระทำได้ตั้งแต่ การปรับวิธีคิด การควบคุมความรู้สึก อารมณ์ และการเลือกสรรการกระทำที่ตนได้พิจารณาแล้วอย่างผู้ที่มีความตระหนักในตนเองอย่างแท้จริง เหมือนดังคำกล่าวในพุทธศาสนาที่ว่า บุคคลที่เจริญแล้วคือบุคคลที่จะต้องคิดและกระทำอย่างผู้รู้สติอยู่ตลอดเวลา และผู้รู้สติในที่นี้ก็คือ “สติ สัมปชัญญะ” หรือ “ความตระหนัก” ที่ได้กล่าวมาแล้วทุกประการ
ความตระหนักในตนเองมีความสำคัญในมนุษย์ ในการมีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม และจำเป็นอย่างยิ่งในการพยาบาลผู้ป่วย โดยเฉพาะในการพยาบาลจิตเวช ซึ่งมีความลำบากในการติดต่อสัมพันธภาพ พยาบาลจำเป็นต้องมีความเข้าใจตนเองเป็นอย่างดี เพื่อให้การตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้ถูกต้อง

บรรณานุกรม
คณาจารย์สถาบันพระบรมราชชนก.(2541).การพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต.กรุงเทพฯ: ยุทธรินทร์การพิมพ์.
สุวนีย์ เกี่ยวกิ่งแก้ว. (2544).แนวคิดพื้นฐานทางการพยาบาลจิตเวช. (พิมพ์ครั้งที่ 3). เชียงใหม่,
โรงพิมพ์ปอง.
อรพรรณ ลือบุญธวัชชัย. (2545). การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ทัศนา บุญทอง.(2544). “เครื่องมือของพยาบาลจิตเวชในการบำบัดทางจิต”.เอกสารการสอนชุดวิชาการส่งเสริมสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชหน่วยที่1-7.(2544).นนทบุรี:สุโขทัยธรรมาธิราช.
Beck, L.A. et al. (2001). Mental Health Psychiatric Nursing. A Holistic Life-Cycle approach. Toronto : The C.V. Mosby Comp.
Kreigh, H.Z., Perko, J.E.(1983).Psychiatric And Mental Health Nursing. 2nd ed., Verginia : Reston Publishing Co., Inc.
Staurt, G.W. & Larsia, M.T. (1998). Principle and Pratice of Psychiatric Nursing (6th ed). St. Louis : Mosby Comp.
Varcorolis, E.M. (1998). Foundations of Psychiatric Mental Health Nursing. (3th ed). Philadelphia : W.B. Saunders Comp
.

1 ความคิดเห็น: