26/5/53

จิตบำบัด






จิตบำบัด

                ดร.ศิริรัตน์  จำปีเรือง


เป็นกระบวนการที่ให้การช่วยเหลือบุคคลที่มีปัญหาด้านจิตอารมณ์ ซึ่งปัญหานั้นอาจจะอยู่ในรูปของอาการที่แสดงออกให้เห็นทางกาย หรือแสดงออกทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม หรือแสดงออกทางด้านปฏิสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น การทำจิตบำบัดมีจุดมุ่งหมายเพื่อการเรียนรู้ใหม่ในด้านต่างๆ เช่นการมองปัญหา การเผชิญปัญหา การแก้ปัญหาด้านการอยู่ร่วมกัน โดยมีผู้ให้การบำบัด ( Therapist) และ/หรือ ผู้ช่วยให้การบำบัด ( Co-Therapist) ที่ได้รับการเรียนรู้และการฝึกหัดในด้านการทำจิตบำบัดจากสถาบันวิชาชีพที่มใการรับรองแล้ว เป็นผู้ดำเนินการให้การบำบัด โดยมีจุดมุ่งหมายสุดท้ายคือ ผู้มีปัญหามีการปรับเปลี่ยนความคิดความเชื่อ เจตคติ การรับรู้เหตุการณ์ และพฤติกรรม มีสุขภาพจิตดีขึ้น มีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูงขึ้น อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสงบสุข
       1.จิตบำบัดโดยจิตวิเคราะห์ มีแนวคิดและทฤษฎีพื้นฐานอยู่ที่กระบวนการของจิตใจ
(Psychodynamic) โดยเห็นว่าพฤติกรรมปัญหาหรือพฤติกรรมแปรปรวนเกิดขึ้นเพราะแรงผลักดัน และความขัดแย้งที่อยู่ภายใต้การทำงานของจิตใจส่วนจิตไร้สำนึก ประสบการณ์ชีวิตในอดีตมีส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดปัญหา การรักษาจึงต้องนำสิ่งที่อยู่ภายในจิตใต้สำนึกขึ้นมาสู่จิตใจ เพื่อที่บุคคลจะได้ตระหนักและได้ทำการแก้ไขปัญหานั้นๆได้
1.1 จิตวิเคราะห์ รูปแบบดั้งเดิม (Classical Psychoanalysis) ผู้คิดค้นคือ ฟรอย์ โดยมีแนวความคิดว่าแรงผลักดัน หรือความขัดแย้ง หรือความต้องการที่ยอมรับไม่ได้ของบุคคลที่ถูกเก็บกดไว้ในจิตใต้สำนึกเป็นเหตุแห่งพฤติกรรมปัญหา การรักษามีจุดมุ่งหมายเพื่อนำสิ่งที่อยู่ภายในจิตใต้สำนึกขึ้นมาสู่จิตสำนึกกระบวนการบำบัดประกอบด้วย
1.1.1Freeassociation : การเชื่อมโยงเสรี : โดยให้ผู้รับการบำบัดรักษาเชื่อมโยงความคิดจากความรู้สึกและจากความคิดหนึ่งไปสู่อีกความคิดหนึ่ง ตามที่เกิดขึ้นในจิตและให้พูดหรือบอกความรู้สึกและความคิดเหล่านี้ให้ผู้บำบัดฟังโดยไม่ต้องกลั่นกรอง หากเกิดความรู้สึกและความคิดอะไรก็ให้พูดออกมาให้หมด การเชื่อมโยงความรู้สึกและความคิดเช่นนี้ เรียกว่า ทางเชื่อมโยงเสรี สำหรับความรู้สึกและความคิดที่เกิดขึ้นในจิตในขณะนั้น อาจจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือความเจ็บปวด หรือแม้แต่เรื่องราวที่ไม่ค่อยสอดคล้องกับสถานการณ์
1.1.2.Dream interpretation การตีความฝัน Freud เชื่อว่า ขณะที่คนหลับ ความปรารถนาตลอดทั้งความรู้สึกต่าง ๆ ที่เก็บกดในจิตไร้สำนึกจะแสดงออกในรูปของความฝัน ด้วยเหตุนี้ ความฝันจะเป็นวิถีทางที่จะช่วยให้เข้าใจสิ่งที่เก็บกดในจิตใต้สำนึก ของบุคคลนั้น สำหรับในเรื่องความฝันนี้ นักจิตบำบัดจะให้ผู้รับการบำบัดเล่าเรื่องความฝันให้ฟัง โดยนักจิตบำบัดจะวิเคราะห์และตีความเกี่ยวกับปัญหา ปมขัดแย้งของผู้รับการบำบัด เพื่อหาความหมายที่แท้จริง ตลอดทั้งเนื้อหาทางแก้ปัญหาปมขัดแย้ง ที่เกิดขึ้น
1.1.3. Analysis of Resistance การวิเคราะห์ปมขัดแย้งในระหว่างการใช้เชื่อมโยงเสรีหรือการวิเคราะห์ความฝัน ผู้รับการบำบัดอาจจะชะงักงันอาจไม่เต็มใจหรือไม่สามารถจะพูดเกี่ยวกับความคิดหรือความรู้สึกในขณะนั้น เป็นความคิดที่เกี่ยวข้องกับปัญหาปมขัดแย้ง ผู้บำบัดจำเป็นจะต้องหาทางที่จะป้อนคำหรือแนะสิ่งบอกแนะบางประการ เพื่อให้ผู้รับการบำบัดสามารถนึกเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ภายหลังนั้นผู้บำบัดควรจะนำข้อมูลที่ได้รับนี้ไปวิเคราะห์ เพื่อหาคำตอบหรือคลีคลายปัญหาปมขัดแย้งนั้น ๆ ของผู้รับการบำบัด เพื่อให้ผู้รับการบำบัดเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นได้กระจ่างและถูกต้องยิ่งขึ้น
1.1.4. Analysis of Transferences การวิเคราะห์การถ่ายทอดเทอารมณ์ ในระหว่างการบำบัดผู้รับการบำบัด มีการถ่ายเทหรือระบายอารมณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับบุคคลหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ในอดีตออกมาสู่ผู้บำบัดความรุนแรงของการระบายหรือถ่ายเทอารมณ์ของผู้รับการบำบัดสู่ผู้บำบัดมากหรือน้อยนั้น จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเหตุการณ์ในอดีตที่เก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึกของรับการบำบัดนั้น การถ่ายเทอารมณ์นี้นับได้ว่าเป็นส่วนสำคัญของการบำบัดรักษา เพราะช่วยให้ผู้รับการบำบัดได้เข้าใจปัญหาของตนได้ชัดเจนขึ้น ได้มองเห็นความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ในอดีตที่ก่อให้เกิดปัญหาซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน
1.1.5พัฒนาการของจิตใจ ( The psychosexual state of development ) ผู้รักษานอกจากจะทำความเข้าใจในเรื่องการต่อต้านการถ่ายเทความรู้สึก และกลไกการปกป้องตนเองแล้ว ยังต้องทำความเข้าใจในเรื่องพัฒนาการของจิตใจ ฟรอยด์ได้แบ่งพัฒนาการของจิตใจในระยะต้นออกเป็น 5 ขั้นตอนด้วยกัน คือ Oral, Anal, Phallic, Latencyและ Genital Stageซึ่งในแต่ระยะจะมีลักษณะเฉพาะ และมีปัญหาสำคัญที่ควรแก่การทำความเข้าใจและศึกษา
วิธีทำจิตวิเคราะห์นี้ภายหลังที่แพทย์ได้สัมภาษณ์ผู้ป่วยเพื่อทราบถึงประวัติและสภาพจิตใจโดยละเอียดและเห็นว่ารักษาได้ก็จะนัดผู้ป่วยให้มารับการรักษาทุกวัน สัปดาห์ละ 5 - 6 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นเวลาติดต่อกัน 2 - 5 ปี
ข้อดีของจิตวิเคราะห์คือ สามารถที่จะทำให้ผู้ป่วยทราบความเป็นจริงของโรค และแก้ไขบุคลิกภาพที่บกพร่องให้ดีขึ้น เป็นการรักษาที่จะได้ผลในระยะยาวหรือถาวร แต่ข้อเสียคือผู้ป่วยเสียเวลาและสิ้นเปลืองเงินค่ารักษามาก
1.2จิตวิเคราะห์แบบใหม่ ( Modern Psychoanalysis)
จะไม่เน้นในเรื่องของการแปลความหมาย ( interpretation) ในสิ่งที่ผู้ป่วยเล่า แต่จะให้ความสำคัญในเรื่องของการแก้ไขภาวะการต่อต้าน ( resolving resistance) แทน ผู้รักษาจะช่วยให้ผู้ป่วยให้ค้นหาสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่ผู้ป่วยต้องมี ถ้าผู้ป่วยต้องการมีพัฒนาการสูงขึ้น กิจกรรมของผู้รักษาก็คือ ช่วยให้ผู้ป่วยลดแรงต่อต้านลง เพื่อที่จะได้มีพัฒนาการและบรรลุถึงวุฒิภาวะทางอารมณ์ในที่สุด


2.จิตบำบัดโดยทฤษฎีมนุษยนิยม

เป็นรูปแบบการบำบัดที่ตั้งอยู่ในฐานความเชื่อในเรื่องศักยภาพของมนุษย์ในการพัฒนาตนเอง โดยมีความเชื่อว่ามนุษย์ที่มีปัญหาหากได้รับความช่วยเหลือและได้รับโอกาส จะสามารถปรับเปลี่ยนตนเองไปในทางที่ดีขึ้น รูปแบบแรกของการบำบัดรักษาในกลุ่มนี้คือ 1.การบำบัดโดยเน้นผู้มีปัญหาเป็นสำคัญ 2.การบำบัดแบบเกสตอลท์ 3. การบำบัดแบบเอกซีสเทนเชียล
2.1 การบำบัดโดยเน้นผู้มีปัญหาเป็นสำคัญ คาร์ล โรเจอร์ ( Karl Roger) เป็นผู้สร้างรูปแบบการรักษานี้ จึงเรียกรูปแบบการบำบัดนี้ว่า Rogerian Therapy ตามชื่อของผู้คิด ผู้บำบัดมีแนวคิด ของ Client Center Therapy จะมีแบบอย่าง style ของตนเองในการให้การรักษา มีทัศนคติชนิด เปิดใจและยอมรับ มีเทคนิคที่ยืดหยุ่นได้ตามแต่เหตุการณ์ ในขณะให้การบำบัด ผู้ให้การบำบัดจะไม่เรียกผู้มีปัญหาว่า”ผู้ป่วย”แต่จะเรียกว่า” ผู้รับบริการ” (client) ซึ่งมีความหมายว่าผู้ที่มีปัญหาและแสวงหาความช่วยเหลือด้วยอย่างแข็งขันด้วยตนเอง นอกจากนี้ผู้รักษาจะไม่แสดงตนเองว่า เป็นผู้รู้ดีกว่าผู้มีปัญหา แล้วทำหน้าที่ชี้แนะแนวทางแก้ปัญหาให้ แต่จะให้ผู้มีปัญหาได้เรียนรู้ปัญหาและแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง โดยมีปรัชญาว่า การจะเริ่มตนการเปลี่ยนแปลงจะต้องมาจากผู้มีปัญหา
     2.1.1 ความเชื่อพื้นฐานการบำบัดโดยเน้นผู้มีปัญหาเป็นสำคัญ
1.) บุคคลทุกคนมีความสามารถอยู่ในตนเอง ที่จะทำความเข้าใจต่างๆในวงจรของชีวิตที่ทำให้เข้าไม่มีความสุข เจ็บปวดและเป็นทุกข์ และยังมีความสามารถที่จะเอาชนะ สาเหตุความทุกเหล่านั้น
2.) พลังความสามารถที่มีอยู่จะเกิดประสิทธิภาพขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้รักษาได้สร้าง
สัมพันธภาพที่อบอุ่น ยอมรับและมีความเข้าใจกับบุคคลนั้น
สรุปได้ว่า การบำบัดโดยเน้นผู้มีปัญหาเป็นสำคัญ เป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง คือผู้มีปัญหาได้เรียนรู้เกี่ยวกับตนเองใหม่ เรียนรู้วิธีการติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นๆใหม่ และเรียนรู้ในพฤติกรรมใหม่ ซึ่งการเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อผู้รักษาสร้างบรรยากาศที่จะทำให้ส่งเสริมการเรียนรู้ คือบรรยาศที่อบอุ่น ยอมรับ เห็นใจ เข้าใจ และยกย่องนับถือผู้ที่มีปัญหา
2.2 การบำบัดแบบเกสตอลท์ ( Gestalt Therapy ) Federick S.Perls เป็นผู้สร้างรูปแบบการรักษา โดยรวบรวมแนวคิดจากปรัชญาเอกซีสเทนเชียล พุทธศาสนา ลัทธิเซน ลัทธิเต๋า มาสร้างเป็นปรัชญาของเกสตอลท์ 
แนวคิดสำคัญ การให้คนสามารถสนองความต้องการของตนเองได้ และจะเน้นในเรื่องปัจจุบัน ( here and now ) มีแนวคิดเกี่ยวกับคนว่าเป็นองค์รวม ( Holism )
กระบวนการรักษาโดยรูปแบบเกสตอลท์จะเน้นในเรื่องการรู้ตนเอง ( awarness) ผู้รักษาจึงต้องไวต่อการรับรู้ ไวต่อภาษาท่าทาง และช่วยให้ผู้มีปัญหาให้ตระหนักถึงภาษาท่าทางนั้นๆด้วย การรู้จักตนเองจะนำไปสู่การยอมรับตนเอง และนำไปสู่การแก้ไขสิ่งที่ตกค้างอยู่ในชีวิต ซึ่งผู้มีปัญหาจะต้องรับผิดชอบ
2.3 การบำบัดแบบเอกซีสเทนเชียล เป็นลัทธิความเชื่อที่ได้จากการวิเคราะห์ปรัชญาของการมีชีวิต ความมีอิสรภาพ และความรับผิดชอบของมนุษย์ ผู้ริเริ่มลัทธินี้คือ โซเรน เคิร์กกีการ์ด ( Soren Kierkegaard) แนวคิดคือ บุคคลแต่ละคนเป็นผู้กำหนดโชคชะตาของตนเอง ลิขิตชีวิตตัวเอง ดังนั้น ความเป็นอยู่ของเขา ความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของเขาเป็นผลจากการกระทำของตัวเขาเองทั้งสิ้น ต่อมา มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger) ได้พยายามหาความหมายของการมีชีวิต( being) และองค์ประกอบสำคัญของการมีชีวิต มนุษย์

นอกจากวิธีการทำจิตบำบัดแบบต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แพทย์หรือนักจิตบำบัดบางท่านนิยมใช้ จิตบำบัดแบบพฤติกรรมบำบัด (Behavioral psychotherapy)ซึ่งใช้ในบุคคลที่ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม หรือมีพฤติกรรมวิปลาส แตกต่างไปจากคนปกตินั้นเป็นเพราะว่าบุคคลนั้นไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสามารถที่จำเป็นต่าง ๆ เพื่อการเผชิญปัญหาในชีวิตหรือบุคคลนั้นได้เรียนรู้แบบแผนและวิธีการเผชิญปัญหา ในชีวิตแบบผิด ๆ ประกอบทั้งได้รับการเสริมแรงหรือสนับสนุน ให้มีพฤติกรรมที่ผิดหรือไม่ถูกต้องด้วยเหตุนี้จะเห็นว่านักพฤติกรรมบำบัด เห็นความสำคัญของจิตวิทยาการเรียนรู้ และได้นำหลักของการเรียนรู้มาใช้ เพื่อมุ่งขจัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ และสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์



วิธีต่าง ๆ ของพฤติกรรมบำบัด

1. Extinetion การยุติหรือหยุดยั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เป็นวิธีการหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมหนึ่ง ๆ ที่เคยได้รับการเสริมแรงมาแล้ว และต่อมาพฤติกรรมนั้น ๆ ไม่ได้รับการเสริมแรงอีกต่อไป ซึ่งเป็นผลให้การเกิดพฤติกรรมนั้น ๆ ลดลง จนกระทั่งยุติในที่สุด โดยค่อย ๆ ลดลงจะไม่ยุติทันที และถ้าหากใช้การยุติหรือหยุดยั้งการเสริมแรงควบคู่กับวิธีการอื่น ๆ เช่น การลงโทษ punishment การควบคุมด้วยสิ่งเร้า stimulus control วิธีการเปลี่ยนสิ่งเร้า (stimulus change) ก็สามารถจะช่วยให้พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
การลงโทษ Punishment หมายถึง การที่อินทรีย์แสดงพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งแล้วได้รับสิ่งที่ไม่พึงพอใจ หรือสิ่งเร้าที่น่ารังเกียจ (Aversive sitmulus) ซึ่งเป็นผลทำให้การแสดงพฤติกรรมนั้น ๆ ของอินทรีย์ลดลง
การควบคุมด้วยสิ่งเร้า (stimulus control) ซึ่งแยกอธิบายได้ ดังนี้
“การควบคุม” control หมายถึง การทำให้เกิดหรือไม่ให้เกิดปรากฎการณ์หนึ่งตามต้องการ
“การควบคุมสิ่งเร้า” หมายถึง สิ่งเร้าที่ทำหน้าที่ควบคุมการเกิดพฤติกรรมของอินทรีย์ โดยจะทำหน้าที่เป็นสัญญาณบอก ให้อินทรีย์รู้ว่าภายใต้สิ่งเร้าใดอินทรีย์ควรจะแสดงพฤติกรรมอะไรหรืออย่างไร ถึงจะได้รับแรงเสริม
วิธีการเปลี่ยนสิ่งเร้า (sitmulus change) เป็นวิธีที่อินทรีย์สามารถจำแนกความแตกต่างของสิ่งเร้าต่าง ๆ และสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าแต่ละชนิดได้ถูกต้อง สำหรับวิธีการเปลี่ยนสิ่งเร้านั้นจะต้องกำหนดสิ่งเร้าที่จำแนกความแตกต่างให้ชัดเจน เพื่ออินทรีย์จะได้สามารถจำแนกได้ว่าภายใต้สิ่งเร้าใด ควรจะตอบสนองหรือมีพฤติกรรมอะไร อย่างไร จึงได้รับแรงเสริมหรือการลงโทษ
2. การค่อย ๆ ลดความรู้สึก (เช่นความกลัว ความวิตกกังวล ฯลฯ) อย่างมีระบบ (systemic Desensitization) เป็นวิธีการวางเงื่อนไขสิ่งเร้ารูปแบบหนึ่งโดยการนำสิ่งเร้าที่เคยก่อให้เกิดความกลัว หรือความวิตกกังวลไปควบคู่กับสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดความรู้สึก ผ่อนคลาย ผู้รับการบำบัดจะได้รับการฝึกให้สามารถต่อต้านความรู้สึกกลัวหรือ ความวิตกกังวลของตนเองด้วยการผ่อนคลาย (Relaxation) และวิธีการดังกล่าวนี้จะเป็นวิธีการที่จะค่อย ๆ ช่วยลดระดับความรู้สึกกลัวหรือความวิตกกังวลที่เคยเกิดขึ้นด้วยวิธีการวางเงื่อนไขอย่างมีระบบ
สำหรับพฤติกรรมบำบัดอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับการค่อย ๆ ลดความรู้สึกอย่างมีระบบ คือ การบำบัดด้วยวิธีการรุนแรงอย่างฉับพลัน (Implosire therapy) ตัวอย่าง การใช้การบำบัด ด้วยวิธีการรุนแรงอย่างฉับพลันมีดังต่อไปนี้ สมมติว่าผู้รับการบำบัดเป็นผู้ที่มีพฤติกรรมผิดปกติทางประสาท โดยพยายามหลีกหนีให้พ้นจากสถานการณ์หรือวัตถุสิ่งของที่ก่อให้เกิด ความวิตกกังวล ผู้บำบัดจะจัดสถานการณ์ที่ให้ผู้รับการบำบัดเผชิญกับสถานการณ์หรือวัตถุสิ่งของที่ก่อให้เขาเกิดความวิตกกังวลอย่างฉับพลัน ทั้งนี้มีจุดประสงค์ที่จะขจัดความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นนั้นให้หมดสิ้นไปโดยทันที
3. การบำบัดด้วยสิ่งเร้าที่ไม่พึงประสงค์ (Aversion therapy) วิธีได้นำหลักของการลงโทษมาใช้โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะขจัดพฤติกรรมที่ไม่พึงปราถนา หรือพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ให้หมดสิ้นไป ตัวอย่าง ผู้รับการบำบัด คนหนึ่งติดสุราเรื้อรัง มีชีวิตโดยปราศจากสุราไม่ได้ ผู้บำบัดได้ใช้การบำบัดด้วยสิ่งเร้าที่ไม่พึงประสงค์ โดยใช้ตัวยาชนิดหนึ่งผสมสุรา แล้วให้ผู้รับการบำบัดดื่มโดยไม่บอกว่าในสุรานั้นมียา ภายหลังดื่มก็มีอาการคลื่นเหียนอาเจียน ภายหลังที่ผู้รับการบำบัดถูกวางเงื่อนไขด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อรับการบำบัดเพียงแต่เห็นสุราเท่านั้น เขาก็จะเกิดอาการคลื่นเหียนอาเจียนทันที และในที่สุด ผู้รับการบำบัดสามารถเลิกดื่มสุราได้
4. การเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforecoment) เป็นวิธีการหนึ่งที่ได้นำมาใช้กับพฤติกรรมบำบัด ทั้งนี้เนื่องจากพฤติกรรมผิดปกติบางชนิดเกิดจากการวางเงื่อนไข ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องแก้ที่เงื่อนไขที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมนั้น ๆ โดยการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขนั้น ๆ เพื่อให้เกิดพฤติกรรมที่ต้องการหรือพฤติกรรมที่พึงประสงค์ และลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ลง


จิตบำบัดมีองค์ประกอบ 3 อย่างด้วยกันคือ กระบวนการรักษา ผู้ป่วย และผู้รักษา


1.กระบวนการรักษา (
process of psychotherapy)
    เริ่มด้วยการประเมินผลเบื้องต้น (initial evaluaton) การให้คำมั่น (contract) และระยะของการรักษา ซึ่งมี 3 ระยะ ระยะแรกเป็นการสร้างความสัมพันธ์ ระยะที่ 2 เป็นระยะของความสัมพันธ์ในการศึกษา และระยะที่ 3 เป็นระยะของการหยุดรักษา
การประเมินผลเบื้องต้น เป็นการตรวจสอบว่ามีปัญหาอะไร มีความผิดปกติอะไร อย่างไรโดยการตรวจสอบทางจิตวิทยา ตรวจวินิจฉัยแยกทั้งทางกายและจิต การวินิจฉัยทางจิตนั้นทำทั้ง 3 ทาง คือ กล่าวคือ การวินิจฉัยโรค (clinical diagnosis) หรือปัญหา วินิจฉัยความเป็นมาหรือการเกิดปัญหา (genetic diagnosis) และการวินิจฉัยแยกแรงกดดันต่าง ๆ ในขณะนี้ (dynamic diagnosis) นี้เป็นการมองในด้านลบ และต้องตรวจดูว่าผู้ป่วยมีข้อดีอย่างไรบ้าง เช่น ความฉลาด พูดเก่ง ผูกมิตรเก่ง ฯลฯ เป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษา
การให้คำมั่น (contract) ผู้รักษาและผู้ป่วยตกลงเห็นชอบว่าจะรับรักษา ต่างฝ่ายมีหน้าที่ฟังปฏิบัติและต้องปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้ทำการตกลงกันไว้

        ระยะแรกของการทำจิตบำบัด เป็นระยะของการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ป่วย เพื่อก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีต่อกัน โดยผู้บำบัดต้องเป็นผู้ที่มีหลักในการฟังที่มีการเห็นอกเห็นใจผู้รับการบำบัด empathy ให้ความเป็นกันเอง เพื่อก่อให้เกิดศรัทธาความรู้สึกที่ดีต่อผู้บำบัด

ระยะแรกของการทำจิตบำบัดนี้การรักษาทั้งแบบให้รู้ความจริง(insight psychotherapy) และการรักษาแบบประคับประคอง (supportive psychotherapy) มีวิธีการคล้ายกัน คือมีเป้าหมายในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ป่วยรับฟังเก็บข้อมูล มีความแตกต่างบ้างเล็กน้อยโดยที่การรักษาแบบให้รู้ความจริงนั้นผู้รักษาวางตัวเป็นกลาง ไม่แสดงความรู้สึกนึกคิดออกมาโดยไม่จำเป็นส่วนทางรักษาแบบประคับประคองนั้น ผู้รักษามีบทบาทมากกว่า เช่น แนะนำ ช่วยเหลือ ช่วยแก้ไขปัญหาแวดล้อมแต่จะต้องทำเท่าที่จำเป็นเพราะการแนะนำในขณะที่ยังไม่มีความสัมพันธ์อันดีนั้นมีผลน้อย


จิตบำบัดระยะที่ 2

เมื่อผู้ป่วยมีความสัมพันธ์ ที่ดี กับผู้รักษาจะเกิดปรากฎการณ์พิเศษขึ้น คือมี transference และ counter transference
transference มักเข้าใจเป็นความรู้สึกรักใคร่ห่วงใย หรือเป็นความรู้สึกที่ดีนั้นเป็นจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะความรู้สึก transference อาจเป็นความจริง โกรธ กลัวก็ได้ และบ่อยครั้งเป็นความรู้สึกทั้งดีและไม่ดีปะปนกัน ดังนั้นการเฝ้าสังเกตปรากฎการณ์ transference จึงต้องคำนึงถึงความจริงข้อนี้ไว้ให้ดี
Countertransference คือ ความรู้สึกของผู้รักษาต่อผู้ป่วยรู้สึกว่าผู้ป่วยนั้นมีความสำคัญต่อตนเป็นพิเศษยิ่งกว่าผู้ป่วยธรรมดาเกินความจริง ความรู้สึกนั้นอาจเป็นทางดี เช่น รักห่วงใย สงสารหรือเป็นทางไม่ดี เช่น หมั่นไส้ เกลียดชัง เบื่อหน่าย ยากที่ผู้รักษาจะรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเองว่ามี เคาเตอร์ทรานสเฟอเรนซ์ (Countertransference) เพราะเป็นความรู้สึกมาจากจิตใต้สำนึก ผู้รักษาจะได้ถ้าเขาสำรวจความคิดทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้รักษามาก
การรักษาระยะนี้ เป็นการรักษาแบบให้รู้ความจริง (Insight psychotherapy) เป็นการค้นหาข้อขัดแย้งที่อยู่ในจิตใต้สำนึก (unconscious conflict) ให้พบ เมื่อพบแล้วก็ชี้แนะ (interpretation) ให้ผู้ป่วยรู้ตัวรู้ปัญหา เข้าใจพฤติกรรมของเขาว่าเกิดจากข้อขัดแย้งในจิตไร้สำนึก
การชี้แนะ interpretation วิธีนี้เป็นการขุดคุ้ยบากแผลในจิตใจของผู้ป่วยซึ่งยากนักที่ผู้ป่วยจะรับฟัง รับรู้ได้ เป็นการเร้าความรู้สึกทางลบออกมาจึงต้องทำเมื่อผู้ป่วยมีความสัมพันธ์อันดีกับผู้รักษา
เมื่อผู้รักษาช่วยผู้ป่วยค้นหาข้อขัดแย้งในจิตไร้สำนึก แล้วชี้แนะผู้ป่วยจนผู้ป่วยเกิดความรู้สึกความเข้าใจปัญหาแรงกดดันจากความขัดแย้งนั้นก็ลดลง ผู้รักษาต้องช่วยให้ผู้ป่วยปรับตัวในการดำเนินชีวิตใหม่ที่เป็นผลดีต่อผู้ป่วย
จิตบำบัดแบบประคับประคอง (Supportive psychotherapy) มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสบายขึ้นโดยลดแรงกดดันต่อผู้ป่วย แต่คงสภาพโครงสร้างของบุคลิกภาพเดิม ไม่ขุดคุ้ยลงไปหาความขัดแย้ง ในจิตไร้สำนึก ดังนั้นจึงไม่ได้ใช้ทางชี้แนะ (interpretation) เป็นหลักแต่จะใช้วิธีการต่าง ๆ ลดความเครียด ลดแรงกดดันต่อจิตใจของผู้ป่วย เช่น การสอน แนะนำ (Suggestion-counselling) การให้ความมั่นใจ (reassurance) การผ่อนคลายความเครียด (relaxation meditation) การเตรียมผู้ป่วยให้พร้อมที่จะเผชิญปัญหาด้วย role playing การกำหนดขอบเขตการกระทำ (limit setting) การแก้สิ่งแวดล้อม (environmental manipulation) การปรับเปลี่ยนวิธีคิดของผู้ป่วย (Cognitive therapy)


จิตบำบัดระยะที่ 3 หรือระยะสุดท้าย

เป็นระยะจากกันเหมือนเด็กหย่านม เมื่อจากกันก็ย่อมมีผลกระทบต่อจิตใจทั้ง 2 ฝ่าย จึงต้องเตรียมตัวเตรียมใจล่วงหน้าก่อนหยุดรักษาให้มีเวลาปรับตัวกันบ้าง อาจเป็นเวลา 3 เดือน 6 เดือน การรักษาแบบให้รู้ความจริงที่ได้สำเร็จเรียบร้อยหยุดรักษาง่าย พอผู้ป่วยอาการดีขึ้นก็เว้นช่วงระยะรักษาห่างออกไปแล้วหยุด ส่วนการรักษาแบบประคับประคอง (Supportive pyschotherapy) หยุดยากกว่า เมื่อผู้ป่วยอาการทุเลาหรือหายป่วยแล้ว ถ้าจะหยุดรักษาก็ค่อย ๆ เว้นระยะดูแลห่างออกไปช้า ๆ เมื่อหยุดแล้วก็อนุญาตให้ผู้ป่วยกลับมาหาใหม่ได้เมื่อจำเป็น


องค์ประกอบที่สองของการทำจิตบำบัด : ผู้ป่วย

ลักษณะที่ควรนำมาพิจารณาประกอบในการทำจิตบำบัดก็คือ บุคลิกนิสัยของผู้ป่วย แรงจูงใจต่อการรักษา ลักษณะการพูด บางคนช่างพูดสามารถถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดได้ บางคนพูดน้อยหรือไม่พูด ความฉลาด-เชาว์ปัญญามีส่วนต่อการเรียนรู้ คนฉลาดจึงรักษาด้วยจิตบำบัด ได้ดีกว่าคนโง่ แต่บางครั้งความฉลาดอาจเป็นอุปสรรคในการรักษา เช่น ผู้ป่วยใช้ความฉลาดหาเหตุผลหลอกตนเอง และทำให้ผู้รักษาเสียเวลา เพราะหลงเข้าใจผิด ส่วนอายุก็มีส่วนสำคัญต่อการทำจิตบำบัดคนที่อายุมากปรับตัวได้ไม่ดีเท่าคนอายุน้อย แต่ในบางรายก็ปรับตัวได้ดี ในการบำบัดแบบ Insight psychotherapy เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างแก้ข้อขัดแย้งในใจ (conflicts) ผู้ป่วยเกิน 40 ปี แล้ว ควรจะคำนึงถึงความสามารถในการปรับตัวของผู้ป่วยด้วย การบำบัดจะได้ผลดีหรือไม่ควรคำนึงถึงความสมบูรณ์ของจิตใจด้วย Ego strength คนที่มีจิตใจสมบูรณ์ สามารถทนต่อความเครียดได้ดีมีเหตุผลรักษาง่ายกว่าผู้ป่วยที่จิตใจเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยโรคจิต การรับรู้บิดเบือนจากความจริง ผู้ป่วยแบบนี้รักษาด้วยจิตบำบัดแบบให้ความรู้จริง (Insight pyschotherapy) ไม่ได้

องค์ประกอบที่สามของการทำจิตบำบัด : ผู้รักษา

คุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับผู้รักษา คือ ความสามารถในการสร้างสัมพันธ์ การผูกมิตร คนที่มีความสามารถในการผูกมิตรจะมีภูมิหลัง เป็นคนที่มีประสบการณ์ชีวิตวัยเด็กที่อบอุ่น
คุณสมบัติที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่ง คือ ความสามารถถ่ายทอดความรู้สึกอันดีงามของผู้รักษาไปให้ผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยทราบว่าผู้รักษามีความรัก ความปรารถนาดีอีกส่วนที่จำเป็นเช่นกันคือ ผู้รักษาต้องเป็นคนที่มีความรู้ทางจิตเวชและการบำบัดอย่างดี เป็นบุคคลที่มีสุขภาพจิตดี เพราะผู้รักษานั้นใช้ตนเองเป็นเครื่องมือในการรักษา หากผู้รักษามีความผิดปกติทางจิตหรือมีสุขภาพจิตไม่ดีก็จะก่อให้เกิดความล้มเหลวในการบำบัด

ผลการรักษา
มีปัจจัยหลายประการด้วยกันที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ปัจจัยเหล่านั้นได้แก่
- ความเครียด การรับผู้ป่วยไว้ในความดูแลนั้นทำให้ผู้ป่วยสบายขึ้น อุ่นใจ รู้สึกว่ามีที่พึ่ง มีผู้ช่วยไม่ตกอยู่ในสถานที่ว้าเหว่ ไร้ที่พึ่ง เกิดความรู้สึกอบอุ่นมั่นใจมากขึ้น
- การระบายความในใจ ผู้ป่วยมีทุกข์ต้องการคนรับฟัง เมื่อได้พบกับผู้รักษาที่สนใจและต้องการฟังเรื่องราวส่วนต่าง ๆ ในเรื่องบางเรื่องไม่กล้าเล่ากับพ่อแม่ คนใกล้ชิด ก็เล่าให้ผู้รักษาฟังได้ ถามผู้รักษาที่ปรากฎในใจผู้ป่วยนั้นสวยงาม เขาทำได้อย่างเสรี เพราะผู้ป่วย รู้จักผู้รักษา ในความคิดคำนึงไม่ใช่ตัวจริง ผู้ป่วยหลายคนอาจจะมีความว้าเหว่ ไม่มีเพื่อน เมื่อพบกับผู้รักษาแล้วมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ผู้ป่วยจึงได้รับสิ่งที่อยากได้
- การทำตัวเหมือน (Identification) ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาใกล้ชิดผู้ป่วยทำตัวเหมือนผู้รักษา โดยไม่รู้ตัว อาจเป็นเรื่องแนวคิด การมองโลกวิธีการแก้ปัญหา ฯลฯ ทั้งนี้ แบบอย่างที่ผู้ป่วยทำตัวเหมือนผู้รักษานั้นควรจะเป็นส่วนดี (มากกว่าเสีย)
- การรู้จักตนเอง (Insight) การรู้ว่ามีแผลใจจิตใจ ความขัดแย้งที่เคยแอบแฝงอยู่ในจิตไร้สำนึกนั้นได้ปรากฏออกมาจิตสำนึก ผู้ป่วยเข้าใจพฤติกรรมอันผิดปกติของตนที่เกิดจากแรงกดดันของความขัดแย้งนั้น เห็นว่าเป็นการกระทำอย่างเด็ก ๆ จึงควรปรับปรุงตนเองใหม่พร้อมกันนั้นแรงกดดันก็อ่อนกำลังลง เพราะความขัดแย้งนั้นไม่ซ่อนอยู่ในจิตไร้สำนึกอีกต่อไป การรู้จักตนเองยังรวมทั้งความเข้าใจ กระทำต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะ การกระทำให้ตนเองลำบาก ที่ผู้ป่วยทำไปโดยไม่รู้ตัว ผู้ป่วยทำไปโดยไม่รู้ตัว ผู้รักษาช่วยชี้ให้ผู้ป่วยรู้เพื่อปรับปรุงแก้ไขตนเอง
- การเรียนรู้ใหม่ จิตบำบัดนั้นเป็นการตรวจสอบแนวทางการดำเนินชีวิตและเทคนิคในการดำเนินชีวิตการต่อสู้ การแก้ปัญหา ผู้รักษาช่วยให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนแนวทางชีวิตใหม่ นำเทคนิคในการแก้ปัญหาที่เป็นผลดีกว่าที่เคยใช้มาแทนทำให้ผู้ป่วยสุขสบายขึ้น ความเครียดความทุกข์ลดลง

จรรยาของนักจิตบำบัด

1. การรักษาความลับของผู้ป่วย ต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
2. ระวังข้อครหาทางเพศ ผู้รักษาต้องรักษาใจตนให้ดี
3. ค่าตอบแทนในการรักษา ควรเรียกร้องอย่างพอควร
4. การแนะนำหรือไม่แนะนำ ผู้ป่วย ควรทำโดยใช้หลักวิชาการและข้อมูลที่เพียงพอ
5.การรักษาหรือไม่รักษาผู้ป่วยควรทำด้วยเหตุผลและถูกหลักวิชาอย่าทำไปตามอารมณ์ ของ ผู้รักษา
6. ผู้รักษาควรจะเป็นผู้มีความรู้ทันสมัย ยึดหลักวิชาการเป็นมาตรฐานการรักษา


กลุ่มจิตบำบัด

Group psychotherapy
********
คือ เป็นรูปแบบหนึ่งของการรักษา มีการคัดเลือกคนไข้ในการเข้ากลุ่ม ดำเนินกลุ่มโดยผู้รักษาที่ได้รับการฝึกฝนด้านนี้มาแล้ว เพื่อจุดประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ ไม่เหมาะสม ของสมาชิกกลุ่มแต่ละคน ผู้นำกลุ่มจะใช้ปฏิสัมพันธ์ ระหว่างกันของสมาชิก โดยให้สมาชิกกลุ่มแสดงความคิดเห็นเสนอแนะวิธีการต่างๆกันเอง จนเกิดการเรียนรู้ขึ้นได้เห็นแบบอย่างที่ดี สามารถปรับตัวเกี่ยวกับวิธีการคิด การแสดงความรู้สึกและพัฒนาพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นด้วยวิธีแก้ไขปรับปรุงจิตใจและพฤติกรรมของผู้ป่วย โดยใช้ความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ป่วยในผู้รักษา ซึ่งได้แก่ จิตแพทย์ พยาบาล นักสังคม นักจิตวิทยา กลุ่มประมาณ 6-12 คน
จุดมุ่งหมายของการบำบัดทางจิตเป็นกลุ่ม
1.1 เสริมสร้างประสบการณ์ทางด้านมนุษย์สัมพันธ์ใหม่ ให้สมาชิกกลุ่มเกิดความรู้สึกในทางที่ดีกับคนอื่นๆ
1.2 สมาชิกกลุ่มมีพัฒนาการทางด้านจิตใจอารมณ์เหมาะสมกับวัย
1.3 เปลี่ยนแปลงทัศนคติบางอย่าง ที่ทำให้เกิดปัญหาส่วนตัว ปัญหาพฤติกรรม และปัญหาสัมพันธภาพ
1.4 เปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพอันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของจิตบำบัดทุกรูปแบบ จะเกิดขึ้นได้เมื่อสมาชิกมีความเข้าใจในสาเหตุของปัญหา มีการเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติที่ผิดๆ และเกิดการเรียนรู้ใหม่และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมปัญหาในที่สุด


หลักการของจิตบำบัดกลุ่ม

1. Under standing หมายถึง ผู้ป่วยได้เข้าใจตนเองมากขึ้น และผู้ป่วยกับผู้รักษาได้มีความเข้าใจกันมากขึ้น
2. Love เกิดมีความรักในระหว่างผู้รักษาด้วยกัน ให้ความเคารพนับถือซึ่งกันและกัน
3. Action การแสดงออก เพื่อให้พฤติกรรมทั้งหลายที่แสดงออกมาได้อยู่ในสภาพปกติ แก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ จากการแยกตัวเองออกจากสังคม และดำรงชีพอยู่ด้วยดี
ผู้ป่วยจะต้องแก้ปัญหาร่วมกับสมาชิกคนอื่น สมาชิกคนอื่นมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อพฤติกรรมของเขา และพยายามแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาของตนเอง ให้สมาชิกในกลุ่มได้แลกประสบการณ์กันเอง วิจารณ์พฤติกรรมของคนอื่น พูดถึงอาการของตนเอง และของคนอื่น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดการเรียนรู้ใหม่
ขนาดของกลุ่มจิตบำบัด ควรมีสมาชิกตั้งแต่ 4-8 คนแต่ไม่ควรเกิน 12 คน ถ้าขนาดใหญ่ขึ้นสมาชิกจะได้รับประสบการณ์ตรงและมีส่วนร่วมในกลุ่มน้อยมาก
ชนิดต่าง ๆ ของจิตบำบัดกลุ่ม (group therapy)
1. Disdactic group เป็นกลุ่มที่ขึ้นอยู่กับความรู้ การใช้สติปัญญา โดยทำให้เกิดการหยั่งรู้ตนเองถึงปัญหาทางอารมณ์ ผู้รักษาต้องใช้วัสดุ อุปกรณ์หรือเรื่องราวเพื่อนำสู่การอภิปราย
2. Therapeutic social club เป็นวิธีการที่ให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วม ในการบริหารกิจกรรมต่าง ๆ ในหมู่นั้น ผู้รักษาเป็นเพียงมีส่วนช่วยให้คำปรึกษา ความมุ่งหมายของการรักษาแบบนี้เพื่อแก้ไขความเคยชิน และความเฉื่อยชา อันมีอยู่ในตัวคนไข้ออกเสีย ให้มีความกระตือรือร้น เห็นค่าของตนของ เช่น Therapeutic Community (T.C.)
3. Repressive Inspiration group กลุ่มนี้ใช้การพูดคุยออกกำลังกายและผ่อนคลาย กลุ่มร้องเพลง กลุ่มทำงานเพื่อประโยชน์ เช่นกลุ่มเสริมแรงจูงใจ
4. Free Interaction group ใช้วิธีวิเคราะห์จิตเข้าช่วย เพื่อจะได้เข้าลึกไปสู่จิตไร้สำนึกการแปลความหมายต่าง ๆ ของจิตไร้สำนึก ตลอดจนความฝันก็นำมาใช้ได้ด้วยเป็นการรักษาที่ค่อนข้างจะละเอียดและลึกซึ้ง สมาชิกในกลุ่มมีน้อยไม่เกิน 10 คน หลักการทำ คือ พยาบาลให้คนไข้ได้แสดงถึงความรู้สึกอันแท้จริงของคนไข้ในกลุ่ม และได้ระบายออกในเรื่องต่าง ๆ ของตนเอง แล้วให้กลุ่มพยายามอภิปรายปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และเปลี่ยนแปลงความรู้สึกระหว่างคนไข้กับผู้รักษา เพื่อหาแนวทางของความบกพร่องต่าง ๆ แล้ว นำมาปฏิบัติให้ถูกต้อง เช่น กลุ่มจิตบำบัด (group Psychotherapy)
5. Psychodrama เป็นวิธีการระบายของปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจออกโดยการใช้บทบาท ซึ่งเป็นในรูปของการเล่นละคร เรียกว่า “ ละครแห่งชีวิต “ วิธีทำ คือ ชักจูงให้คนไข้ได้แสดงบทบาทที่คนไข้ที่มีทุกข์ฝังอยู่ในใจออกมา เช่น กลุ่ม Psychodrama

สิ่งที่ควรคำนึงในการทำกลุ่มจิตบำบัด

- การตั้งกลุ่ม หมายถึง เวลา สถานที่ และ ระยะเวลาทำกลุ่มแต่ละครั้งจะต้องวางแผนไว้ให้รอบครอบ การใช้เวลา 75-90 นาที แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวก สถานที่ควรจะเงียบสงบ ไม่มีเสียงรบกวน
- ระยะเวลาในการรักษาแต่ละชุด ตามปกติการทำกลุ่มจิตบำบัดอาจทำอาทิตย์ละ1-3ครั้งสุดแท้แต่ความเหมาะสมของแต่ละแนวคิด
- สมาชิกที่เข้ารับการรักษาในกลุ่ม อาจตกลงกันว่าเป็นกลุ่มปิดหรือกลุ่มเปิดก็ได้
- ต้องเตรียมผู้ป่วยใหม่ทุกคนก่อนนำมาเข้ากลุ่ม
- ผู้รักษาต้องพูดกับกลุ่ม หลีกเลี่ยงที่จะพูดหรือตอบคำถามกับผู้หนึ่งผู้ใด
- การดำเนินกลุ่มแต่ละครั้ง ตามแนวคิดจิตวิเคราะห์ที่นิยมปฏิบัติกันอยู่แบ่งเป็น 3 ระยะ

1. ระยะเริ่มต้นกลุ่ม

- อุ่นเครื่อง
- ทำความรู้จักซึ่งกันละกัน
- กลุ่มรู้วัตถุประสงค์ กฎเกณฑ์กติกา
- เวลาที่ใช้ 1/6 ของเวลาทั้งหมด
2. ระยะกลาง
- นำปัญหาเข้าสู่ความสนใจของกลุ่ม
- เป็นปัญหาในปัจจุบันหรือเมิ่อเร็วๆนี้
- กลุ่มไต่ถามรายละเอียดของปัญหา
- กลุ่มวิจารณ์ให้ข้อเสนอแนะ
- นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกลุ่มมาพิจารณาและแก้ไข
- เวลาที่ใช้ 4/6 ของเวลาทั้งหมด
3. ระยะสุดท้าย
- สรุปปัญหาและข้อเสนอแนะ
- สรุปการเรียนรู้กันในกลุ่ม
- การวางแผนที่จะกระทำในคราวหน้าถ้ามี
- เวลาที่ใช้ 1/6 ของเวลาทั้งหมด
กลไกของ (Machansism of group psychotherapy)
1. Emotion
1.1 Aceptanance บรรยากาศผู้รักษา และผู้รับการรักษา รับฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจมีความสัมพันธ์กับสมาชิกลุ่ม
1.2 Altruism คือ การแสดงถึงความรัก ความเห็นใจ และให้ข้อคิดแก่คนอื่น ๆ
1.3 Transference สมาชิกในกลุ่มเกิดอารมณ์ร่วม แต่ละคนมีความผูกพันทางอารมณ์ต่อกันเกิดความชอบพอกันด้วยอุปนิสัยใจคน ความเห็นอกเห็นใจจนเกิดความรักต่อกันได้
2. Cognition สมาชิกในกลุ่มเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ในกลุ่มได้มากน้อยแค่ไหน
2.1 Spectator therapy เมื่อกลุ่มได้รับฟังปัญหา (ทุกข์) ของผู้อื่นแล้วนำมาเปรียบเทียบกับปัญหา (ทุกข์) ของตนเอง มองเห็นว่าปัญหาของตนเองน้อยกว่าเขา เกิดความเข้าใจในทุกข์ของตนเองขึ้นและค่อย ๆ เกิดให้คนไข้มีความเชื่อมั่นในตนเอง แต่จะเป็นปรากฎการณ์ที่ค่อนข้างจะยุ่งยากและซับซ้อน
2.2 Universalization การสร้างให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าปัญหา “ทุกข์” ที่เกิดขึ้นกับใครในกลุ่ม ไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเองคนเดียว เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ได้เป็นเรื่องประหลาด เมื่อทราบดังนี้ ความวิตกกังวลต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ จางลงไป
2.3 Intellectuallization คนไข้ได้เรียนรู้ปัญหาของสมาชิกในกลุ่ม คือ คนไข้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในกลุ่ม
3. Action เห็นได้จาก
3.1 Reality testin g เป็นหัวใจของ Activitly therapy (กลุ่มบำบัด) เพราะคนเราเมื่ออยู่ร่วมกันต้องระมัดระวังถึงกิริยามารยาท คำพูด เช่นเดียวกัน ผู้ป่วยในกลุ่มก็จะต้องมีความสนใจที่จะปรับปรุงตนเองให้เข้ากับผู้ป่วยในกลุ่มได้
3.2 Ventilation คือการระบายทุกข์ หรืออารมณ์ที่คั่งค้างอยู่ในตัวออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จะทำให้จิตใจของผู้ป่วยสบายขึ้น
3.3 Interaction คือ การเฉลี่ยประสบการณ์ต่าง ๆ ของคนไข้คนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งในบรรดาสมาชิกในกลุ่ม อันเป็นเรื่องราวในสังคมทั่วไป
                   นอกจากนี้ยังเกิด Mechanism อื่น ๆ จากสมาชิก เช่น
1. Suggestion การแนะนำให้เชื่อของสมาชิกในกลุ่ม
2. Authority มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน Suggestion เพราะคนไข้จะอ่อนแออยู่แล้ว ย่อมจะโน้มเอียงไปกับผู้รักษา หรือสมาชิกในหมู่ที่แข็งกว่า จะเกิดความเชื่อมั่นในตัวผู้รักษา เกิด Authority
3. Rivalry ความอิจฉาในกลุ่มจะเกิดการแข่งขันตามมา
4. Relaxtion บรรยากาศที่สบายไม่เครียด มีคุณค่าในการรักษา
5. Tension การเกิด Tension ในกลุ่มบางคราวคนไข้จะดีขึ้น
6. Sharing ทุกคนมีส่วนร่วม สนทนา สังสรรค์
7. Reassurance การปลอบใจ เกิดผลดีต่อการรักษา


เอกสารอ้างอิง

คณาจารย์สถาบันพระบรมราชชนก.การพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต. กรุงเทพมหานคร :
        ยุทธรินทร์การพิมพ์ ,2539.
ปราโมทย์ เชาว์ศิลป์ .รณชัย คงสกนธ์ . กลุ่มจิตบำบัดสำหรับคนไข้ใน. กรุงเทพมหานคร :สมาคม
        จิตแพทย์แห่งประเทศไทย,2542.
สมภพ เรืองตระกูล. คู่มือจิตเวชศาสตร์. กรุงเทพมหานคร : อักษรสมพันธ์, 2525.
อรพรรณ ลือบุญธวัชชัย.การพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช. กรุงเทพมหานคร :
        ศูนย์หนังสือจุฬา,2537
เอกสารสอนชุดวิชา การส่งเสริมสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชหน่วยที่ 8 –10 สาขาวิชาการ 
        พยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

9 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ9 กรกฎาคม 2553 เวลา 00:00

    อ่านเข้าใจง่าย

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ4 เมษายน 2554 เวลา 21:37

    ในกรุงเทพ สามารถติดต่อได้ที่ไหนคะ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ17 มกราคม 2555 เวลา 18:25

    ข้อมูลสั้นได้ใจความ ทำให้นึกหลายๆ ออกคะ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ21 กรกฎาคม 2556 เวลา 19:22

    ดีมากครับ อยากให้อธิบายสั้นๆ พร้อมตัวอย่างย่อๆ ก็จะสื่อความเข้าใจมากขึ้น

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ23 ตุลาคม 2557 เวลา 07:35

    เริ่มอ่านตั้งแต่คำว่าดีมากๆประโยคที่เจ็ดน้ะค้ะ

    ตอบลบ
  6. เข้าใจง่ายมากๆเลยค่ะ ขอบคุณนะค่ะ

    ตอบลบ
  7. เข้าใจง่ายมากๆเลยค่ะ ขอบคุณนะค่ะ

    ตอบลบ
  8. อยากสะกดจิตบำบัดแบบที่ ดร.ไวลส์ ทำ อะ ที่เขียนในหนังสือ The only love is real

    ตอบลบ