31/1/53

การให้คำปรึกษาสุขภาพ


การให้การปรึกษาทางสุขภาพ
ดร. ศิริรัตน์   จำปีเรือง

ความหมายแนวคิดทฤษฎีของการปรึกษา
แนวคิดทฤษฎีการให้คำปรึกษาที่ใช้ในการบำบัดรักษาผู้ซึ่งมีปัญหาและไม่สามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้
1. ความหมายของการให้การปรึกษา
มีผู้ให้ความหมายมากมาย แต่โดยสรุปการให้การปรึกษา หมายถึง กระบวนการของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 2 คน คือ ผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษา โดยผู้ให้การปรึกษา จะพยายามช่วยให้ผู้รับการปรึกษาเกิดความเข้าใจปัญหาและสามารถหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้
2. วัตถุประสงค์ของการให้การปรึกษา
เพื่อมุ่งช่วยเหลือให้ผู้รับการปรึกษาสามารถพึ่งตนเองได้ และใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหา
3. ทฤษฎีการให้คำปรึกษา
การให้คำปรึกษาไม่ใช่เรื่องที่ใคร ๆ จะทำก็ได้ เพราะเป็นสิ่งที่มีหลักวิชาการ มีความหมาย มีวิธีการ และต้องมีแรงจูงใจ เพราะจิตวิทยาการปรึกษาเป็นวิทยาศาสตร์ที่มีพื้นฐาน การทดลอง ทดสอบ รวบรวมความรู้ พร้อมทั้งเป็นศิลปะ จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นทั้ง ศาสตร์และศิลป์ ผู้ที่จะทำได้ต้องศึกษาโดยเฉพาะในเรื่องทฤษฎีให้ถ่องแท้
ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง (Theories of Counseling) มีมากมาย แต่ขอนำเสนอที่มีความสำคัญต้องรู้ ดังนี้
1. Characteristics
1.1 ทฤษฎีแรก คือ Jungian Typologies
ทฤษฎีนี้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะบุคลิกของคน คือ Introverted กับ Extroverted
Introverted คือ คนที่อยู่กับตัวเอง มีความรู้สึก ไม่ต้องแสดงออก
Extroverted คือ คนที่ชอบแสดง ชอบพูดมาก ๆ แสดงปฏิกิริยาออกมาข้างนอก
การแสดงออกมา หรือไม่แสดงออกของบุคคลจะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจที่มีเหตุผล และไร้เหตุผล คนส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจโดยให้เหตุผลต้องอาศัยความคิดพิจารณาหรือความรู้สึก แต่บางคนจะใช้ความนึกคิดจินตนาการและประสาทสัมผัส ซึ่งถือว่าไม่มีเหตุผลในการตัดสินใจ
นักจิตวิทยาหรือผู้ที่จะให้คำปรึกษาต้องเข้าใจบุคคล ว่ามีลักษณะใด คนที่มีบุคลิกภาพแบบ Introverted ก็จะมีความคิด ความรู้สึก ความรับรู้ได้แบบเก็บซ่อนไว้ไม่แสดงออก
1.2 ทฤษฎีที่สอง คือ Myers – Briygs Typologies
ทฤษฎีนี้ศึกษามาจากของ Jung โดยยึดถือบุคลิกภาพในเรื่องของ Introverted กับ Extroverts นำมาจัดแบ่งเป็น 16 แบบ ของลักษณะคน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมมากมีผู้ให้ความสนใจศึกษามาก
2. Development
ทฤษฎีที่น่าสนใจในกลุ่มของพัฒนาบุคลิกภาพ คือ “Eight Ages of Men” ของ Erik Erikson

Stage of being Contradictory impulse
1 Basic Trust VS. Basic Mistrust
2 Autonomy VS. Shame and Doubt
3 Initiative VS. Guilt
4 Industry VS. Inferiority
5 Identity VS. Role Confusion
6 Intimacy VS. Isolation
7 Generativity VS. Stagnation
8 Ego Integrity VS. Despair

ทฤษฎีนี้แบ่ง 8 ขั้นตอน โดยเน้นว่าพัฒนาการแต่ละขั้นติดต่อสืบเนื่องกันตลอดเวลา โดยมีพัฒนาการด้านร่างกายเป็นตัวนำไปสู่พัฒนาการขั้นต่าง ๆ
ขั้นที่ 1 ตั้งแต่ระยะปีแรกของชีวิต บุคคลจะเกิดความรู้สึกไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจในการดำเนินชีวิต
ขั้นที่ 2 อายุ 2 – 3 ปี เป็นช่วงที่บุคคลเรียนรู้ที่จะทำบางอย่างได้ก่อให้เกิดความรู้สึกเชื่อมั่นในตนหรือสงสัยไม่แน่ใจในความสามารถของตน
ขั้นที่ 3 อายุ 3 – 5 ปี ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จะเริ่มเกิดในวัยนี้ ถ้าทำไม่ได้หรือถูกติเตียนก็จะรู้สึกผิดมองโลกในแง่ร้าย
ขั้นที่ 4 อายุ 6 – 11 ปี รู้สึกว่าตนประสบความสำเร็จหรือรู้สึกด้อย เพราะเด็กวัยนี้สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ผู้ใหญ่ทำได้แต่ได้ไม่ดีเท่า
ขั้นที่ 5 อายุ 12 – 17 ปี เป็นขั้นที่บุคคลเกิดการรู้จักตนเองหรือไม่รู้จักตนเองเป็นระยะของการสร้างมาตรฐานของตนเอง พยายามแสดงหาความเป็นเอกลักษณ์
ขั้นที่ 6 อายุ 17 – 21 ปี มีความรู้สึกว่าตนมีเพื่อนหรือมีความรู้สึกอ้างว้าง ความสำเร็จของพัฒนาการในวัยนี้ขึ้นอยู่กับความมั่นใจในตนเอง
ขั้นที่ 7 อายุ 22 – 40 ปี มีความรู้สึกผิดชอบแบบผู้ใหญ่หรือความรู้สึกเฉื่อยชา
ขั้นที่ 8 อายุ 40 ปีขึ้นไป วัยนี้บุคคลควรได้รับความสำเร็จในชีวิต ถ้าเขามีพัฒนาการทางบุคลิกภาพดีมาเรื่อย ๆ เขาจะยอมรับความจริงในวัยที่เปลี่ยนแปลงไป ในทางตรงข้ามถ้าพัฒนาการระดับต้นของบุคคลไม่ประสบความสำเร็จเขาก็จะไม่พอใจในชีวิตที่ผ่านมา เกิดความรู้สึกสิ้นหวังท้อแท้
ฉะนั้น พัฒนาการแต่ละขั้นตอนถ้าถูกขัดขวางก็จะนำไปสู่ความผิดปกติ ความสับสนในบทบาทไม่รู้ตนเองเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่

3. Transactional Analysis Theory โดย Eric Beme
ทฤษฎีนี้พิจารณามนุษย์ว่า สามารถที่จะเข้าใจที่มาแห่งบุคลิกภาพของเขาได้ และมีความเป็นอิสระที่จะเลือกตัดสินใจ นอกจากนี้ยังเน้นประสบการณ์วัยเด็กว่ามีอิทธิพลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ โดยโครงสร้างบุคลิกภาพจะก่อตัวขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก
เบิร์น ได้แบ่งโครงสร้างบุคลิกภาพเป็น 3 ระบบ คือ
“ระบบแห่งความเป็นเด็ก (The Child Ego State)
“ระบบแห่งความเป็น พ่อ แม่” (The Adult Ego State)
“ระบบแห่งความเป็นผู้ใหญ่” (The Parent Ego State)

มนุษย์จะใช้ระบบเหล่านี้ในการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น ทั้งทางสื่อความหมายที่ใช้คำพูดและสีหน้าท่าทาง เรียกว่า “สัมพันธ์ภาพระหว่างบุคคล” (Transaction)
ปัญหาเกิดจากการที่บุคคลปรับตัวไม่ได้ในการสรัางสัมพันธภาพกับคนอื่น ๆ อันเนื่องมาจากใช้บุคลิกภาพอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ
การช่วยเหลือตามแนวคิดของทฤษฎีนี้คือ การช่วยให้บุคคลเป็นตัวของตัวเอง การตระหนักรู้ (Awareness) ยืดหยุ่น รับฟังผู้อื่น (Spontaniety)

Structural Diagram of Parent / Adult / Chiki / Child Ego State
(Adapted from Berne, 1964)
Parent
Nutural
Nutural / Critical
Adult
Adapted / Child

Structural Diagram of the Basic life Positions
(Adapted from Harris, 1967)

- I’m not OK You’re OK
- I’m OK You’re not OK
- I’m not OK You’re not OK
- I’m OK You’re OK

องค์ประกอบร่วมของกลวิธีการให้คำปรึกษา
ในขณะที่การให้คำปรึกษากำลังดำเนินอยู่ ผู้ให้คำปรึกษาไม่ว่าจะยึดถือทฤษฎีการให้คำปรึกษาแนวทางใดก็ตาม อาทิ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ Freud ทฤษฎีการให้คำปรึกษาแบบศูนย์กลางอยู่ที่ผู้รับคำปรึกษาของ Rogers หรือแนวทางของกลุ่มพฤติกรรมก็ตาม ผู้ให้คำปรึกษาจำเป็นต้องตระหนักถึงองค์ประกอบร่วมต่าง ๆ ของกลวิธีการให้คำปรึกษา ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1. สัมพันธภาพ (Relationship) ความสัมพันธ์เป็นพื้นฐานสำคัญในการวางโครงสร้างของการให้คำปรึกษา ความพยายามที่จะสร้างสัมพันธภาพ คือ การแสดงออกถึงความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือผู้รับคำปรึกษา ดังนั้นผู้ให้คำปรึกษาจำเป็นต้องมีสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1.1 มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นเป็นพื้นฐาน (Good Wishes)
1.2 มีการยอมรับและให้เกียรติผู้อื่นในฐานะบุคคล (Approval)
1.3 มีการยกย่องและแสดงความนิยมชมชื่นในความสามารถของบุคคลอื่น (Recognition)
1.4 มีความสามารถในการสื่อข้อความ (Communication) กล่าวคือ ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังที่ดี รู้จังหวะขั้นตอนว่า เวลาใดควรเป็นผู้พูด เวลาใดควรเป็นผู้ฟัง และในขณะที่เป็นผู้ฟังนั้นสามารถเข้าใจทั้งเรื่องราวและอารมณ์ของคู่สนทนา
1.5 ให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลอื่นทันที เมื่อมีโอกาสเท่าที่สามารถจะกระทำได้ (Helping Relation)
สัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้ให้คำปรึกษากับผู้รับคำปรึกษา ซึ่งในกระบวนการให้คำปรึกษาเรียกว่า สายสัมพันธ์ (Rapport) จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้การให้คำปรึกษาดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และผู้ให้คำปรึกษาจะต้องรักษาสายสัมพันธ์นี้ ให้คงอยู่ตลอดไปในระหว่างการให้คำปรึกษาอีกด้วย
2. ความยืดหยุ่น (Flexibility) นับจากผู้ให้คำปรึกษาที่เป็นฝ่ายมีบทบาทมากไปจนถึงผู้ให้คำปรึกษาที่มีบทบาทน้อยหรือค่อนข้างเงียบ จากการให้คำปรึกษาแบบนำทางไปจนถึงแบบไม่นำทาง จากด้านความคิดความอ่านไปจนถึงด้านอารมณ์และพฤติกรรม คุณสมบัติของผู้ให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพ คือความสามารถที่จะให้คำปรึกษาและสร้างความสัมพันธ์ตามวิธีการที่เหมาะสม กับลักษณะของผู้รับคำปรึกษาที่แตกต่างกันไปได้ทุกรณี ทฤษฎีการให้คำปรึกษาทุกทฤษฎีต่างก็แนะนำให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการให้คำปรึกษาไปตามความเหมาะสมไม่ปรากฎว่ามีทฤษฎีใดเลยที่แนะนำผู้ให้คำปรึกษาพยายาม หาทางเพื่อทำให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าไปอยู่ในแบบพิมพ์เดียวกันทั้งหมด ทุกทฤษฎีจะพิจารณาด้วยความยืดหยุ่นในการใช้หลักการของทฤษฎีนั้น ๆ อย่างมีเหตุผล
3. การสื่อความหมาย หรือการสื่อข้อความ (Communication) ผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับคำปรึกษาจะต้องมีการติดต่อสื่อความหมายซึ่งกันและกัน อาจโดยการใช้คำพูด (Verbal Communication) หรือใช้กิริยา ท่าทาง สีหน้า แววตา (Non-Verbal Communication) ก็ได้ ความไวในการที่จะรับรู้และเข้าใจถึงปัญหา ความไวต่อการรับรู้ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตนเองและของผู้รับคำปรึกษาตลอดจนการพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยความยุติธรรมพอสมควร จะช่วยให้การให้คำปรึกษาดำเนินไปได้อย่างดี
4. การจูงใจ (Motivation) ทฤษฎีการให้คำปรึกษาทุกทฤษฎีมีความเห็นตรงกันว่าผู้รับคำปรึกษาที่ต้องการมาขอรับการปรึกษาย่อมจะให้ความร่วมมือและได้รับประโยชน์มากกว่าผู้ที่ไม่มีความต้องการ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้จึงควรมีการสร้างแรงจูงใจกับผู้รับคำปรึกษาทุกคน โดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่ต้องการรับการปรึกษาเมื่อผู้รับคำปรึกษานั้นเกิดปัญหาก็อาจต้องใช้ความพยายามมากเป็นพิเศษ การจูงใจสำหรับการให้คำปรึกษาเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดตลอดถึงความประพฤติ และนำมาสู่ความสำเร็จในการให้คำปรึกษาต่อไป
5. การยอมรับนับถือ (Respect) การยอมรับนับถือในฐานะบุคคลที่ผู้ให้คำปรึกษามีให้แก่ผู้รับคำปรึกษาเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในระหว่างการให้คำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษาควรฝึกฝนการยอมรับนับถือผู้อื่นให้งอกงามไปพร้อม ๆ กับการยอมรับนับถือตนเอง และเกิดความรู้สึกต้องการที่จะรักผู้อื่นเหมือนกับที่รักตนเอง การที่ผู้ให้คำปรึกษาจะนิยมชมชื่นในตัวผู้รับคำปรึกษานั้น เขาจะต้องเกิดความรู้สึกนิยมชมชื่นในตนเองก่อนประการสำคัญก็คือ การรู้จักตนเองเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้งถึงจุดเด่นและจุดบกพร่องตลอดถึงการยอมรับตนเองของผู้ให้คำปรึกษาจะก่อให้เกิดทักษะปัญหาและความรู้สึกที่ต้องการจะยอมรับนับถือผู้อื่น
6. การสนับสนุน (Support) การให้การสนับสนุนแก่ผู้รับคำปรึกษาไม่ว่าจะโดยการใช้คำพูดลักษณะ สีหน้า ท่าทาง หรือการกระทำ จะทำให้ผู้รับคำปรึกษามีความรู้สึกว่าตัวเขาหรือเรื่องราวของเขามีความสำคัญและกำลังได้รับความสนใจ หรือ ได้รับการสนับสนุนจากผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาเกิดกำลังใจและมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาที่เขากำลังเผชิญอยู่ต่อไป
7. การเรียนรู้ (Learning) แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ปรากฎอยู่ในทฤษฎีการให้คำปรึกษาอยู่แล้ว ผู้รับคำปรึกษาจะเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง และโลกของเขามากขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยให้เขาเกิดความสามารถในการแก้ไขปัญหามากยิ่งขึ้น การเรียนรู้จะเกิดขึ้นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละทฤษฎี เช่น บางทฤษฎีจะเชื่อว่าเมื่อไรก็ตามที่ทัศนคติของคนเราเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมของบุคคลนั้นย่อมจะเปลี่ยนตาม บางทฤษฎีก็เชื่อว่าเมื่อไรก็ตามที่พฤติกรรมเกิดการเปลี่ยนแปลง ทัศนคติย่อมจะเปลี่ยนตาม ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่ที่ทฤษฎีใดจะเน้นที่จุดไหน อย่างไรก็ตามผู้ให้คำปรึกษาควรถามตนเองว่า“เราต้องการให้ผู้รับคำปรึกษาเรียนรู้อะไร” หรือ “เราต้องการให้ผู้รับคำปรึกษาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ภายหลังจากที่การให้คำปรึกษายุติลง” ดังนี้เป็นต้น
8. การนำแนวทาง (Direction) การนำแนวทางแก่ผู้รับคำปรึกษาเป็นความเข้าใจที่ปรากฎอยู่ในทฤษฎีการให้คำปรึกษาทุกทฤษฎีการนำแนวทางบางวิธีอาจปรากฎให้เห็นได้ชัดเจนบางวิธีก็เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว บางวิธีก็มีเงื่อนงำอย่างฉลาด บางวิธีก็ใช้สัญญาณ หรือการพยักหน้า การนำแนวทางไม่ว่าผู้ให้คำปรึกษาจะใช้วิธีใดมักจะต้องปรากฎอยู่เสมอ และ ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการให้คำปรึกษา
9. การให้รางวัล (Rewards) การที่ผู้ให้คำปรึกษามอบความอบอุ่นเป็นกันเอง ยอมรับนับถือทำความเข้าใจในเรื่องราวและในตัวผู้รับคำปรึกษา ไม่ว่าจะเป็นไปโดยกิริยาท่าทางหรือการให้วัตถุสิ่งของก็ตามถือว่าเป็นรางวัลที่ผู้รับคำปรึกษาได้รับ ซึ่งจะช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาเกิดกำลังใจที่จะแสดงออกถึงอารมณ์และความรู้สึกที่แท้จริงออกมาอย่างเปิดเผยอันจะเป็นแนวทางไปสู่การเรียนรู้ในการที่จะปรับตนเองให้เข้ากับสังคม
10. จุดประสงค์ (Purposes) วัตถุประสงค์สำคัญของการให้คำปรึกษาที่ผู้ให้คำปรึกษาพึงระลึกไว้อยู่เสมอก็คือ การร่วมมือกันระหว่างผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับคำปรึกษาเพื่อช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาเกิดความเป็นอิสระรับรู้รายละเอียดเกี่ยวกับตนเองและสิ่งแวดล้อมมีความรับผิดชอบต่อตนเอง กล้าที่จะเผชิญกับโลก และพร้อมที่จะตัดสินใจแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

การสัมภาษณ์เพื่อให้คำปรึกษา
ในกระบวนการของการให้คำปรึกษา มีสิ่งสำคัญที่ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องให้ความสนใจรับรู้ เข้าใจ และยอมรับในเรื่องราวของปัญหาทางอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับผู้รับคำปรึกษา ซึ่งจะช่วยให้บรรยากาศของการให้คำปรึกษาเป็นไปอย่างราบรื่น
ในการสัมภาษณ์เพื่อให้คำปรึกษานั้น ผู้ให้คำปรึกษาควรยึดหลักสำคัญบางประการ ดังนี้
1. เตรียมการล่วงหน้าอย่างรอบคอบตามกำหนดนัดสัมภาษณ์ในแต่ละครั้ง ศึกษารายละเอียดของผู้รับคำปรึกษาจากระเบียนสะสม และทำบันทึกย่อเกี่ยวกับข้อความที่สำคัญของผู้รับคำปรึกษา พยายามหาโอกาสปรึกษาผู้ร่วมงานที่ใกล้ชิด ซึ่งสามารถให้ข้อมูลรายละเอียดอันเป็นภาพพจน์ที่ชัดเจน พยายามหาข้อมูลที่ทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลของผู้รับคำปรึกษา ที่ได้รับความสำเร็จมาใหม่ ซึ่งจุดนี้ควรจะเป็นจุดเริ่มต้นในการสัมภาษณ์
2. โปรดระลึกเสมอว่าเหตุฉุกเฉินสามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่บุคคลต้องการรับการสัมภาษณ์ทันทีทันใด อย่างชนิดที่เกือบจะไม่มีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้า ดังนั้นอย่าให้นิสัยที่จะต้องเตรียมการล่วงหน้าในการสัมภาษณ์มาบดบังสายตาของท่าน ในการที่จะเห็นถึงความต้องการ การช่วยเหลือของผู้รับคำปรึกษาในปัจจุบันทันด่วนแม้กระทั้งท่านสามารถจะทำการสัมภาษณ์ได้โดยมิได้เตรียมตัวโปรดให้เวลาแก่ผู้รับคำปรึกษาบ้างทั้ง ๆ ที่การสัมภาษณ์ก็ยังเป็นงานที่สำคัญอยู่ โปรดระลึกเสมอว่าการให้คำปรึกษาจะมีประสิทธิภาพมาก เมื่อผู้รับคำปรึกษามาพบท่านด้วยความรู้สึกว่าเขาต้องการรับความช่วยเหลือจากท่าน
3. พยายามทำให้เป็นธรรมชาติ การพบปะกับผู้รับคำปรึกษาทุกครั้งพยายามสร้างบรรยากาศแห่งความยินดีที่ได้พบกันโดยไม่ฝืนความรู้สึกว่าถูกบังคับ จงพยายามเป็นตัวของตัวเองอย่าพยายามเลียนแบบอย่างผู้อื่น ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะได้รับความสำเร็จมาก่อน เพราะบุคลิกของผู้สัมภาษณ์ เหล่านั้นย่อมแตกต่างไปจากบุคลิกของท่าน
4. พยายามใช้เวลา 2 – 3 นาทีในขณะเริ่มต้นการสัมภาษณ์ เพื่อช่วยให้ผู้มารับคำปรึกษาสบายใจ ท่านควรจะสนทนาเพื่อช่วยให้ผู้รับคำปรึกษารู้สึกคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมทั่วไป โดยท่านไม่จำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นในหัวข้อที่จะทำการสัมภาษณ์ข้อคิดเห็นทั้งหลายควรจะเป็นไปในแนวทางที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และผ่อนคลายความตึงเครียด ท่านอาจสนทนาในตอนเริ่มแรกถึงเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างสนใจร่วมกัน เช่น ข่าวประจำวัน ข่าวกีฬา หรือเรื่องราวที่ช่วยให้บรรยากาศเป็นไปอย่างฉันท์มิตร
5. มุ่งเข้าสู่จุดการสนทนาอย่างฉับพลัน เมื่อสถานการณ์อำนวยโปรดระลึกไว้เสมอว่า คำจำกัดความของการสัมภาษณ์ คือ การสนทนาอย่างมีจุดมุ่งหมาย ขออย่าได้ละเลยหลักสำคัญนี้ถึงแม้ว่าการสนทนาจะเป็นการพบกันชั่วคราวก็ตาม
6. พยายามจัดสถานที่ให้เป็นแบบสบาย ๆ และเป็นกันเอง สถานที่ที่จะใช้ในการสัมภาษณ์ควรจัดให้เป็นแบบเรียบ ๆ ง่าย ๆ แต่ในเวลาเดียวกันก็พยายามให้ดึงดูดใจ ห้องสัมภาษณ์นั้นจะต้องไม่ให้มีสิ่งใดมารบกวนหรือขัดจังหวะในขณะที่กำลังสัมภาษณ์ การจัดโต๊ะและเก้าอี้ไม่จำเป็นต้องจัดอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้เกิดบรรยากาศที่อบอุ่น
7. สร้างบรรยากาศให้เป็นกันเอง เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาเกิดความรู้สึกสบายใจและเป็นอิสระ กล้าที่จะแสดงความรู้สึกต่าง ๆ ออกมาอย่างเปิดเผย ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องยึดถือว่าการสัมภาษณ์นั้นเป็นสัมพันธภาพอีกชนิดหนึ่งที่ต้องการความร่วมมือต่อกัน
8. จงเป็นผู้ฟังที่ดี ผู้ให้คำปรึกษาควรพูดเฉพาะสิ่งที่จำเป็นเพื่อช่วยให้เรื่องราวที่กำลังสนทนาอยู่ในขอบเขตของปัญหาของผู้รับคำปรึกษา และ พยายามช่วยผู้รับคำปรึกษานึกถึงสถานการณ์นั้น ๆ โดยตลอดพร้อมกับหาทางช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาเข้าใจถึงเรื่องราวและสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นความจริง แต่ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการให้คำแนะนำโดยตรงแก่ผู้รับคำปรึกษาเสมอไป อย่าพยายามให้ผู้รับคำปรึกษาตัดสินใจคล้อยตามท่านด้วยการบีบบังคับ
9. พยายามเปิดโอกาสให้ผู้รับคำปรึกษาตัดสินใจด้วยตนเอง ในระยะแรกเริ่มของการสัมภาษณ์นั้นผู้ให้คำปรึกษาไม่ควรเป็นฝ่ายให้คำตอบทั้งหมดแก่ผู้รับคำปรึกษาเพราะคำตอบเหล่านี้บางครั้งก็อาจผิดพลาดได้แม้ท่านจะแน่ใจว่าคำตอบเหล่านั้นถูกต้องก็ตาม แต่ก็เป็นหลักจิตวิทยาที่ว่า ถ้าเขาสามารถตัดสินใจด้วยตัวของเขาเองได้ก็จะเป็นการเหมาะสมกว่า
10. พยายามคงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์ของการสัมภาษณ์แต่อย่าให้เกิดความเย็นชา หลักเบื้องต้นของการสัมภาษณ์ประการหนึ่งก็คือ ผู้ให้คำปรึกษาไม่ควรใช้อารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับผู้รับคำปรึกษา บุคคลที่มีปัญหาในเรื่องการปรับตัวย่อมต้องการบุคคลที่มี ประสบการณ์มาร่วมเกี่ยวพันด้วย ถ้าผู้รับคำปรึกษาเป็นบุคลเช่นนั้น เขาจะพยายามเร่งเร้าความเห็นอกเห็นใจจากท่าน ซึ่งอาจเป็นความยินดีความโกรธหรือความรังเกียจก็ตาม ตัวอย่างเช่น เขาอาจได้รับความพอใจซึ่งจะกลายเป็นวัตถุประสงค์แรกสำหรับเขา ถ้าเป็นเช่นนั้นเขาจะไม่มีการแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่เป็นปัญหาในตัวเขาเลย เนื่องจาก วัตถุประสงค์ได้เปลี่ยนแปลงไปจากการมุ่งแก้ไขปรับปรุงบางสิ่งบางอย่างกลับกลายเป็นการมุ่งหาความพึงพอใจบางอย่างเข้ามาแทน
11. ยอมรับบุคลิกของผู้รับคำปรึกษา เปิดโอกาสให้ผู้รับคำปรึกษาได้แสดงออกทั้งความคิด และความรู้สึกของเขาอย่างเต็มที่ อย่าพยายามขัดขวางการแสดงออกไม่ว่าจะโดยการใช้วาจาหรือท่าทางพยายามยอมรับนับถือเขา และช่วยเขาให้มีบุคลิกภาพที่งามสง่าตลอดไป
12. เมื่อยุติการสัมภาษณ์แล้ว ควรบันทึกผลการสัมภาษณ์ทุกครั้งและอย่าเก็บเรื่องราวนั้นมานั่งคิดวิตกกังวลอีกต่อไป เพราะจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นมาได้ซ้ำร้ายตัวท่านเองก็จะกลายเป็นผู้ที่สะสมไว้แต่ความทุกข์ถ้าท่านทำงานไปนาน ๆ

เทคนิคการให้การปรึกษา(Techniques of Counseling)
กลวิธีในการให้คำปรึกษานอกจากจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้การให้คำปรึกษา บรรลุถึงเป้าหมายแล้วยังจะช่วยให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างผู้ให้คำปรึกษากับผู้รับคำปรึกษา ซึ่งมีผลสะท้อนให้กระบวนการของการให้คำปรึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการทำความเข้าใจและฝึกฝนกลวิธีดังกล่าวจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ให้คำปรึกษา
กลวิธีหรือเทคนิคที่สำคัญสำหรับผู้ให้คำปรึกษาที่จะนำมาใช้ในระหว่างการให้คำปรึกษา มีดังนี้
1. การเริ่มต้นให้คำปรึกษา (Opening the Interview)
การเริ่มต้นให้คำปรึกษาจำเป็นต้องอาศัยทักษะในการนำ หรือเริ่มสนทนา (Leading Skill) บรรยากาศของการเริ่มต้นการให้คำปรึกษา ควรมีความอบอุ่นและเป็นกันเอง ในกระบวนการของการให้คำปรึกษาโดยทั่วไปนั้น ผู้ให้คำปรึกษามักจะรอให้ผู้รับคำปรึกษาเป็นผู้เริ่มต้นโดยบอกถึงสาเหตุที่มาพบแต่ถ้าผู้รับคำปรึกษารู้สึกตื่นเต้นหรือลำบากใจในการแสดงออกผู้ให้คำปรึกษาก็จำเป็นต้องพยายามหาทางช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาเกิดความสบายใจ โดยใช้ประโยคเหล่านี้เป็นการเริ่มต้น เช่น
“มีอะไรที่พอจะบอกให้ผมทราบบ้างไหม”
“คุณรู้สึกอย่างไรบ้างวันนี้ มีอะไรอึดอัดใจบ้างไหม๊”
“วันนี้เราจะคุยเรื่องอะไรกันดี”
“มีอะไรที่ผมพอจะช่วยเหลือได้บ้างไหม”
นอกจากนี้ ยังอาจใช้เทคนิคในการนำเข้าสู่การสนทนา ดังนี้
1.1 การนำเข้าสู่การสนทนาโดยตรง (Direct Leading) เป็นการกระตุ้นให้การสนทนาดำเนินต่อไป อีกทั้งยังเป็นการช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาได้ขยายความถึงเรื่องราวที่กำลังสนทนาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถช่วยผู้รับคำปรึกษาได้เข้าใจถึงเรื่องราวที่ตนกำลังพูดให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น เช่น
“คุณลองเล่าเพิ่มเติมอีกหน่วยซิ เกี่ยวกับเพื่อนสนิทคนนี้ของคุณ”
“คุณลองยกตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ชัดเจนอีกหน่อยซิครับ”
“คุณลองเล่าถึงความขัดแย้งระหว่างคุณกับเพื่อนในกลุ่มเพิ่มเติมให้ผมฟังอีกหน่วยซิ”
1.2 การนำสนทนาให้เข้าประเด็น (Focusing) บางครั้งผู้รับคำปรึกษาอาจเกิดความสับสนในเรื่องที่กำลังสนทนากัน โดยเฉพาะในตอนต้นของการสนทนาเกี่ยวกับปัญหาของผู้รับคำปรึกษา กลวิธีนี้จะช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาได้ทราบถึงประเด็นที่กำลังคุยกันได้แน่ชัด อันเป็นการช่วยให้ได้มอง ถึงปัญหานั้นอย่างเจาะจงลงไปอีกด้วย เช่น
“คุณรู้สึกอย่างไรกับเรื่องที่คุยกันอยู่นี้”
“เราได้คุยกันมาหลายเรื่องแล้ว มีเรื่องไหนที่คุณอยากคุยมากที่สุด”
“คุณลองบอกถึงความรู้สึกของคุณให้ชัดเจนอีกครั้งซิว่าคุณมีความรู้สึกอย่างไรกับอาจารย์ประจำชั้นของคุณ”
2. การตั้งคำถาม (Questioning) ผู้ให้คำปรึกษาสามารถใช้คำถามเพื่อให้ได้ ข้อมูลในด้านต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น ภูมิหลัง ความสนใจ จุดดี จุดอ่อนของผู้รับคำปรึกษา เพื่อที่จะช่วยผู้รับคำปรึกษาได้ มีโอกาสเข้าใจถึงปัญหาและตัวผู้รับคำปรึกษาได้ดียิ่งขึ้น คำถามที่ดีจะเป็นคำถามที่ช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาได้เข้าใจถึงปัญหาตลอดถึงอารมณ์ และความรู้สึกของตนเอง คำถามที่จะนำไปสู่คำตอบว่า“ใช่ – ไม่ใช่” “จริง – ไม่จริง” เป็นคำถามที่จะตัดการสนทนา หรือการบอกเล่าอย่างละเอียดจากปากของผู้รับคำปรึกษา เช่น “เธอไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ใช่ไหม” แต่ควรจะเปลี่ยนเป็น “ลองเล่าถึงสาเหตุของเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ให้ฟังหน่วยซิ” หรือ “เธอมีความรู้สึกอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้นนี้” หรือ “อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องนี้” หรือ “อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณรู้สึกเช่นนี้”
3. การสอบซัก (Probing) เป็นการป้อนคำถามตรง ๆ หลาย ๆ คำถามติดต่อกันเพื่อดึงเอาคำตอบจากผู้รับคำปรึกษาออกมา กลวิธีการสอบซักนี้ผู้ให้คำปรึกษาไม่ควรใช้บ่อยนัก เพราะเป็นการรีบเร่ง กระบวนการในการให้คำปรึกษาโดยใช้การสอบซักเพื่อให้ได้คำตอบมาเร็วเกินกว่าที่ผู้รับคำปรึกษาจะมีความพร้อมที่จะพูดถึงปัญหาของเขา ก็อาจจะทำให้เกิดความล้มเหลวในการให้คำปรึกษาได้ วิธีการสอบซักอาจใช้ได้ผลเมื่อผู้รับคำปรึกษาพยายามหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงจุดสำคัญของปัญหาอยู่ตลอดเวลาแต่ขณะที่ผู้ให้คำปรึกษาใช้กลวิธีนี้ควรจะสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกของผู้รับคำปรึกษา ไปพร้อมกันด้วยและถ้าหากเกิดการต่อต้านก็ควรจะหยุดใช้ทันที เช่น
ผู้รับคำปรึกษา : เราเคยมีความสัมพันธ์กันครับ
ผู้ให้คำปรึกษา : มีความสัมพันธ์กันลึกซึ้งขนาดไหน
หรือ ผู้ให้คำปรึกษา : ลองเล่าถึงเพื่อนสนิทให้ฟังหน่อยซิ
ผู้รับคำปรึกษา : เพื่อนสนิทของผมมีน้อยมากครับ
ผู้ให้คำปรึกษา : มีกี่คน
4. การเงียบ (Silence) การเงียบเป็นกลวิธีหนึ่ง ใช้ภายหลังจากที่ผู้ให้คำปรึกษาป้อนคำถาม ให้แก่ผู้รับคำปรึกษาและผู้รับคำปรึกษากำลังคิดว่าจะตอบปัญหานั้นหรือไม่ หรือจะตอบปัญหานั้นอย่างไรดี การใช้กลวิธีการเงียบเพื่อคอยฟังคำตอบจากผู้รับคำปรึกษานั้นอาจสร้างความอึดอัดใจแก่ผู้ให้คำปรึกษาที่เริ่มฝึกหัดเพราะขาดประสบการณ์ เมื่อผู้รับคำปรึกษาไม่พูด จึงมักจะรีบพูดเสียเอง ซึ่งทำให้ความคิดของผู้รับคำปรึกษาหยุดชะงักลงเมื่อผู้รับคำปรึกษานิ่งเงียบ ผู้ให้คำปรึกษาจะแสดงก็เพียงแต่ท่าทีของความสนใจและให้ผู้รับคำปรึกษาทราบว่าเราตั้งใจรอฟังเรื่องราวอยู่ ซึ่งการเงียบอาจกินเวลานานถึง 2 – 3 นาที แต่ถ้าเห็นว่าผู้รับคำปรึกษานิ่งเงียบนานเกินไปก็อาจพูดขึ้นว่า “บางครั้งเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเรานั้นมันยากที่จะบรรยายออกมาเป็นคำพูด” หรือ “คุณรู้สึกอย่างไร ก็พูดออกมาอย่างนั้นก็ได้” หรือ “คุณคงกำลังคิดอยู่ว่าจะพูดออกมาอย่างไร คุณค่อย ๆ คิดก็ได้ เมื่อคิดได้แล้วค่อยพูดออกมา ผมจะคอยฟังคุณพูด”
5. การทบทวนประโยค (paraphrasing) หมายถึง การพูดซ้ำประโยคที่ผู้รับคำปรึกษาพูดมาแต่ใช้ถ้อยคำน้อยลง ขณะเดียวกันก็ยังคงความหมายเดิมอยู่ จุดประสงค์ของการทบทวนประโยคก็เพื่อจะบอกให้ผู้รับคำปรึกษาทราบว่า ผู้ให้คำปรึกษาเข้าใจเรื่องราวที่ผู้รับคำปรึกษาพูดมา และยังคงติดตามรับฟังเรื่องราวของผู้รับคำปรึกษาอยู่ เช่น
ผู้รับคำปรึกษา : ผมไม่เข้มใจคุณพ่อผมจริง ๆ บางทีตอนเช้าบอกให้ทำอย่างหนึ่ง แต่พอตอนเย็นกลับบอกให้ทำอีกอย่างหนึ่ง
ผู้ให้คำปรึกษา : คุณไม่เข้าใจคุณพ่อของคุณ
ผู้รับคำปรึกษา : ครับ มากที่สุดเลยครับ
ในระหว่างการให้คำปรึกษา บางครั้งผู้รับคำปรึกษาอาจไม่ปรารถนาที่จะพูดถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นออกมาตรง ๆ แต่จะพูดออกมาในประโยคที่กำกวม ผู้ให้คำปรึกษาอาจหยิบยกเอาความหมายที่แฝงอยู่ออกมาแสดงให้ชัดเจนด้วยการทบทวนประโยคดังกล่าวใหม่ และทำให้เกิดความชัดเจนตามมา เช่น
ผู้รับคำปรึกษา : ผมรักและนับถือคุณอาผมคนนี้ที่ผมมาอาศัยอยู่ด้วย ท่านให้ความช่วยเหลือผมอย่างสม่ำเสมอแม้แต่กระทั้งเรื่องการเงินเขาก็ให้ผมไว้ใช้จ่าย ขณะเดียวกันท่านก็คอยเข้มงวดกวดขันการเรียนของผมอยู่เสมอ แต่ท่านก็บอกว่าท่านปรารถนาดีต่อผม ผมเลยไม่รู้จะทำอย่างไร
ผู้ให้คำปรึกษา : คุณชื่นชมในความช่วยเหลือของท่าน แต่ผมพอจะจับความรู้สึกของคุณได้ว่า คุณรู้สึกรำคาญในความเอาใจใส่ที่มากเกินไปของท่าน
ผู้รับคำปรึกษา : คงจะเป็นอย่างนั้นครับ เพราะผมรู้สึกสับสนในตัวท่านจริง ๆ
6. การสรุป (Summarizing) ในระหว่างการให้คำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษากับผู้รับคำปรึกษา อาจสนทนากันหลายเรื่องพร้อม ๆ กันและอาจเกิดความสับสน ดังนั้นการใช้ทักษะในการสรุปก็คือ การพยายามรวบรวมสิ่งที่พูดกันไปแล้วนั้นให้เป็นประโยคเดียว โดยครอบคลุมเนื้อเรื่องต่าง ๆ ที่ได้สนทนามาแต่ละตอนของการสนทนา ในการสรุปจำเป็นต้องอาศัยความจำเป็นในเรื่องราวต่าง ๆ ที่พูดคุยกันมาเป็นอย่างดี สิ่งที่พึงระลึกถึงในการสรุปก็คือ อย่านำเอาความคิดใหม่เพิ่มเติมเข้ามาในการสรุปแต่ควรเป็นการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ที่ได้พูดคุยกันมาแล้ว เช่น
ผู้ให้คำปรึกษา : จากเรื่องที่คุณพูดมาเกี่ยวกับครอบครัวของคุณ ความสัมพันธ์กับเพื่อนในชั้น และการเรียนของคุณนั้น ดูเหมือนคุณจะประสบความล้มเหลวในเรื่องเหล่านี้
การสรุปจะช่วยให้คู่สนทนาเข้าใจเรื่องราวที่กำลังสนทนากันได้ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกทั้งยังเป็นการช่วยผู้รับคำปรึกษาได้สำรวจความคิดหรือความรู้สึกของตนเอง หรืออาจนำไปสู่การสนทนาในเรื่องอื่นต่อไป

7. การสะท้อนความรู้สึก (Reflection of Feeling) เป็นการนำเอาข้อความและคำพูดของผู้รับคำปรึกษามาตีความหมายและพูดออกมาในเชิงของความรู้สึกที่แฝงอยู่ในเนื้อหานั้นโดยผู้ให้คำปรึกษาอาจถอนข้อความและจัดคำพูดนั้นใหม่ โดยพยายามเน้นถึงความรู้สึกของผู้รับคำปรึกษา มากกว่าทางด้านคำพูด ซึ่งจะช่วยผู้รับคำปรึกษาได้รับรู้และเข้าใจถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง เมื่อผู้รับคำปรึกษาเข้าใจถึงความรู้สึกของตนเองแล้วจะช่วยให้การให้คำปรึกษาดำเนินไปอย่างราบรื่นและตรงเป้าหมาย การสะท้อนความรู้สึกเป็นกลวิธีที่ผู้ให้คำปรึกษาที่ยึดแนวทางของ person Centered Theory ใช้เพื่อช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาเผชิญกับความรู้สึกของตนเอง และสามารถแสดงความรู้สึกของตนออกมาด้วยวาจา โดยปราศจากความวิตกกังวล เช่น
ผู้รับคำปรึกษา : วิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ผมรักและสนใจมากและเคยทำคะแนนได้สูงกว่าวิชาอื่นแต่ผมก็อดกลัวไม่ได้ เมื่อถึงเวลาสอบ
ผู้ให้คำปรึกษา : เธอรู้สึกขาดความมั่นใจในเวลาสอบ แม้ว่าจะเป็นวิชาที่เธอถนัด
8. การตีความ (Interpreting) ในระหว่างการให้คำปรึกษา ผู้รับคำปรึกษาอาจกล่าวถึงเรื่องราวบางสิ่งที่มีความหมายสืบเนื่องมาจากเรื่องราวที่ได้เคยกล่าวมาแล้ว และในขณะนั้นผู้ให้คำปรึกษาอาจมองเห็นความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเดิม จึงใช้วิธีการตีความเพื่อให้ผู้รับคำปรึกษาเห็นความเกี่ยวข้องของปัญหาและยอมรับในปัญหานั้น หรืออาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า การตีความเป็นกระบวนการที่ผู้ให้คำปรึกษาอธิบายความหมายของเหตุการณ์ให้ผู้รับคำปรึกษาได้เข้าใจปัญหาของตนเองในด้านอื่นที่อาจยังไม่ได้มองมาก่อน ซึ่งต่างกับการทบทวนประโยค (Paraphrasing) ในแง่ที่ว่าการตีความหมายนั้น ผู้ให้คำปรึกษาได้เสนอกรอบแนวคิด (Frame of Reference) ใหม่ให้ผู้รับคำปรึกษาได้พิจารณาปัญหาของตนเองการตีความจะช่วยผู้รับคำปรึกษาเข้าใจถึงปัญหาของตนเอง ได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเปรียบเทียบกลวิธีแบบ การทบทวนประโยค (Paraphrasing) การสะท้อนความรู้สึก (Refleetion of Feeling) และการตีความ (Interpreting)
ผู้รับคำปรึกษา : เมื่อคืนนี้ผมไปงานวันเกิดของเพื่อนร่วมงานที่บริษัท ผมดื่มจัดแล้วผมก็ร้องไห้ออกมา ครวญครางเหมือนเด็ก ผมรู้สึกละอายใจตนเองเหลือเกิน
การทบทวนประโยค (Paraphrasing)
ผู้ให้คำปรึกษา : คุณดื่มมากจนกระทั่งร้องไห้ และคุณรู้สึกละอายใจเมื่อได้พูดถึงมัน
การสะท้อนความรู้สึก (Reflection of Feeling)
ผู้ให้คำปรึกษา : คุณรู้สึกอดสูใจเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อคืนนี้
การตีความ (Interpreting)
ผู้ให้คำปรึกษา : คุณรู้สึกละอายใจที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ในคืนนั้น
9. การชี้แนะ (Suggesting) เป็นกลวิธีในการเสนอความคิด หรือวิธีการแก้ไขปัญหาแบบอ้อม เพื่อจูงใจให้ผู้รับคำปรึกษาคิดแก้ไขปัญหา หรือรับเอาวิธีนั้นไว้ใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป เช่น
ผู้รับคำปรึกษา : ผมเรียนวิชาคณิตศาสตร์ไม่ค่อยจะเข้าใจเลยไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างไรดี
ผู้ให้คำปรึกษา : เธอคงเคยคิดจะจัดกลุ่มติววิชานี้กันแล้วซินะ
10. การแสดงความเห็นชอบ (Approval) เป็นกลวิธีหนึ่งที่จะให้กำลังใจแก่ผู้รับคำปรึกษาที่จะดำเนินวิธีการแก้ไขปัญหาต่อไป ผู้ให้คำปรึกษาสามารถใช้คำพูด หรือกิริยาท่าทางที่จะแสดงให้ผู้รับคำปรึกษาได้รับรู้ว่าผู้ให้คำปรึกษาเห็นชอบด้วยกับวิธีการของผู้รับคำปรึกษา เช่น
ผู้รับคำปรึกษา : ผมจะนำเรื่องนี้ไปปรึกษากับอาจารย์ประจำชั้น อีกครั้งหนึ่ง
ผู้ให้คำปรึกษา : เป็นความคิดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเธอ ในขณะนี้
11. การให้ความมั่นใจ (Assurance) เมื่อผู้รับคำปรึกษาแสดงทัศนะ หรือโครงการต่อผู้ให้คำปรึกษาและผู้ให้คำปรึกษามั่นใจว่าทัศนะ หรือโครงการนั้นถูกต้อง และได้ผลดีจริง ผู้ให้คำปรึกษาจะแสดงออกเพื่อเป็นการให้ความมั่นใจแก่ผู้รับคำปรึกษา เช่น
ผู้รับคำปรึกษา : ผมรู้สึกเป็นกังวลกับคะแนนเฉลี่ยสะสมมากจนเกินไป ทั้ง ๆ ที่ผมได้คะแนนเฉลี่ย 2.9
ผู้ให้คำปรึกษา : นั่นซิ โดยทั่วไปแล้ว ก็ไม่เห็นมีอะไรน่าวิตกมากนัก
12. การเผชิญหน้า (Confrontation) การเผชิญหน้าเป็นกลวิธีหนึ่งที่ผู้ให้คำปรึกษาจะบอกถึงความรู้สึกและความคิดเห็นของตนเองต่อผู้รับคำปรึกษาอย่างตรงไปตรงมา เพื่อช่วยผู้รับคำปรึกษาได้เข้าใจถึงความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนพฤติกรรมของตนเองให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงมากขึ้น
ผู้รับคำปรึกษา : ผมพยายามทำดีกับเพื่อนในชั้นทุกคนแต่ก็ยังมีบางคนที่ไม่ชอบหน้าผม ทำให้ผมรู้สึกผิดหวังมาก
ผู้ให้คำปรึกษา : มีใครบ้างไหมในโลกนี้สามารถทำให้คนรอบข้างเราทุกคนรักเราด้วยความจริงใจ
สำหรับผู้ให้คำปรึกษาที่เริ่มฝึกหัด ควรระมัดระวังต่อการใช้กลวิธีการเผชิญหน้า เพราะอาจทำให้ทั้งสองฝ่ายเกิดอารมณ์และระคายเคืองต่อความรู้สึกขึ้นมาซึ่งจะกระเทือนถึงสายสัมพันธ์ (Rapport) อันดีที่เคยมีต่อกันเมื่อแรกเริ่มการให้คำปรึกษา
13. การท้าทาย (Challenge) เป็นกลวิธีอีกชนิดหนึ่งที่จะกระตุ้นให้ผู้รับคำปรึกษาต้องใช้ความตั้งใจมากขึ้นในการแก้ปัญหาแต่ในเวลาเดียวกันกลวิธีดังกล่าวก็อาจสร้างความกังวลใจแก่ผู้รับคำปรึกษาเพิ่มขึ้นได้ เช่น
ผู้รับคำปรึกษา : เทอมนี้ผมจะต้องพยายามทำให้ได้ A สัก 4 วิชา
ผู้ให้คำปรึกษา : เธอแน่ใจว่าจะทำได้หรือ
ผู้รับคำปรึกษา : ผมคิดว่าได้ครับ ถ้าผมขยันมากกว่านี้สักหน่อย
14. การไม่ยอมรับ (Rejection) เป็นกลวิธีที่ผู้ให้คำปรึกษาจะใช้เมื่อเห็นว่า ผู้รับคำปรึกษาแสดงความคิดเห็นที่ผิดไปจากความเป็นจริง หรือแสดงออกถึงความคิดเพ้อฝันมากเกินไป ผู้ให้คำปรึกษาจะแสดงการไม่ยอมรับเพื่อดึงให้ผู้รับคำปรึกษาเปลี่ยนแปลงแนวความคิดใหม่ เช่น
ผู้รับคำปรึกษา : ผมอาจทำเกรดได้ 3.00 ในเทอมนี้ (ทั้ง ๆ ที่คะแนนเฉลี่ย 2 ปีที่ผ่านมาได้เพียง 1.7)
ผู้ให้คำปรึกษา : ผมไม่คิดว่าคุณจะทำได้
กลวิธีการไม่ยอมรับนี้ สำหรับผู้ให้คำปรึกษาที่เริ่มฝึกหัด ถ้าจะใช้กลวิธีดังกล่าว ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเพราะอาจทำให้ผู้รับคำปรึกษาไม่ยอมรับผู้ให้คำปรึกษาก็ได้ เมื่อผู้รับคำปรึกษารู้สึกว่าผู้ให้คำปรึกษาไม่ยอมรับเขาก่อน
15. การฟัง (Listening) นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ให้คำปรึกษาทุกคน การฟังเป็นศิลปะที่ต้องอาศัยความอดทนและต้องใช้สมาธิเป็นอย่างมาก เพราะในระหว่างการให้คำปรึกษานั้น ผู้ให้คำปรึกษามิใช่จะรับฟังแต่เพียงเรื่องราวที่ผู้รับคำปรึกษาเล่าออกมาเท่านั้น แต่จะต้องทำความเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้รับคำปรึกษาในขณะนั้นพร้อมทั้งร่วมรับอารมณ์ของผู้รับคำปรึกษาไปด้วย
       ในขณะที่ผู้ให้คำปรึกษารับฟังผู้รับคำปรึกษาอยู่นั้น ผู้ให้คำปรึกษาจำเป็นต้องแสดงความเอาใจใส่ (Attending) ต่อผู้รับคำปรึกษา ซึ่งอาจแสดงออกได้โดยการสบตา หรือพยักหน้าเล็กน้อยในขณะที่รับฟังหรือพูดเสริมขึ้นภายหลังจากที่ผู้รับคำปรึกษาพูดจบ เช่น “อึม ! ผมเข้าใจว่าคุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้” เป็นต้น ลักษณะท่าทางในการนั่งที่โน้มตัวไปข้างหน้าพอสมควรของผู้รับคำปรึกษาก็เป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะแสดงออกถึงความเอาใจใส่ต่อผู้รับคำปรึกษาในขณะนั้นอีกด้วย

กระบวนการของการให้คำปรึกษาเชิงระบบ
( Systematic Counselling)
การให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพนั้น ผู้ให้คำปรึกษาจำต้องมีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์และผ่านการฝึกฝนอบรมมาเป็นอย่างดี สำหรับขั้นตอนในการให้คำปรึกษาเชิงระบบ เป็นวิธีการหนึ่งที่เหมาะสำหรับนำมาใช้เป็นแนวทางในการฝึกฝนและใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพ สำหรับขั้นตอนในการให้คำปรึกษาเชิงระบบ มีดังนี้
ขั้นที่ 1 The Counselor ผู้ให้คำปรึกษารู้ว่าตนเองถนัดอะไร มีจุดเด่นและจุดอ่อนอย่างไร รู้คุณสมบัติของผู้รับคำปรึกษาที่ดี
ขั้นที่ 2 Perpare for interview ผู้ให้คำปรึกษาเตรียมตัวให้คำปรึกษา นัดหมายข้อมูลศึกษาข้อมูลและหาข้อมูลเพิ่มเติ่ม
ขั้นที่ 3 Explain counselin Relationship เริ่มต้นกระบวนการให้คำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษาอธิบายสัมพันธภาพในการให้คำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษาสร้างสายสัมพันธ์
ขั้นที่ 4 Construct model of client concern ผู้ให้คำปรึกษาทำความเข้าใจและยอมรับในปัญหาหรือความทุกข์ของผู้รับคำปรึกษา ปัญหามีอะไรบ้าง ตลอดถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา
ขั้นที่ 5 Decide goal and objective ผู้ให้คำปรึกษาร่วมมือกับผู้รับคำปรึกษาเลือกวิธีการแก้ปัญหาและตัดสินใจ
ขั้นที่ 6 Implement strategy ผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับคำปรึกษาร่วมกันกำหนดแนวทางและขั้นตอนที่ผู้รับคำปรึกษาจะนำไปปฏิบัติเพื่อเป็นการแก้ปัญหา
ขั้นที่ 7 Evaluation ประเมินผลจากการปฏิบัติ
ขั้นที่ 8 Closed Case ยุติการให้คำปรึกษาถ้าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ หรือให้คำปรึกษาเรื่องอื่นต่อไป

ขั้นตอนของการให้คำปรึกษาเชิงระบบ
การให้คำปรึกษาเชิงระบบ( Systematic Counselling) มีรายละเอียดในแต่ละขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. กระบวนการของการให้คำปรึกษาเชิงระบบเริ่มที่ ผู้ให้คำปรึกษา จำเป็นต้องฝึกฝนและพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถและคุณสมบัติดังนี้
1.1 ผู้ให้คำปรึกษาจำเป็นต้องมีความรู้ในเนื้อหาวิชาการให้คำปรึกษาตลอดจนจิตวิทยา โดยเฉพาะเนื้อหาเกี่ยวกับทฤษฎีการให้คำปรึกษา ทฤษฎีบุคลิกภาพ ทฤษฎีการเรียนรู้และแรงจูงใจ ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวอย่างลึกซึ้งและแตกฉาน
1.2 ผู้ให้คำปรึกษาควรรู้จักตนเองว่า มีบุคลิกภาพเป็นเช่นใด มีจุดเด่นและจุดอ่อนอย่างไรตลอดจนรู้ถึงความถนัดและความสนใจของตนเอง เช่นรู้ว่าตนเองเป็นคนก้าวร้าวรุนแรงหรือนุ่มนวลเพียงใด มีความชอบหรือไม่ชอบผู้มารับคำปรึกษาที่มีลักษณะอย่างไรและมีความชอบหรือไม่ชอบเป็นพิเศษในปัญหาประเภทใดหรืไม่อย่างไร
1.3 ผู้ให้คำปรึกษาควรรับรู้และตระหนักถึงคุณสมบัติที่จำเป็นบางประการ ในอันที่จะเอื้ออำนวยให้การปฏิบัติงานทางด้านนี้บรรลุเป้าหมายได้ดีขึ้น คุณสมบัติดังกล่าวได้แก่การเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพซึ่งก่อให้เกิดความอบอุ่นใจแก่ผู้ใกล้ชิด มีความสามารถในการสร้างสายสัมพันธ์และเป็นกันเองกับผู้รับคำปรึกษา เป็นผู้ฟังที่ดี โดยพยายามทำความเข้าใจและยอมรับในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดจนสามารถร่วมรับอารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่นได้มีความเข้าใจในมนุษย์ได้ดี พอสมควรว่ามนุษย์นั้นประกอบขึ้นด้วยร่างกายและจิตใจ ดังนั้นปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจึงมีเรื่อของอารมณ์และความรู้สึกเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุผลอยู่บ้างไม่มากก็น้อย
2. ขั้นเตรียมตัวให้คำปรึกษา (Perpare for interview )
การเตรียมพร้อมเพื่อจะให้คำปรึกษานั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งควรจะได้มีการนัดหมาย วัน เวลา มีการจัดเตรียมสถานที่พร้อมทั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการให้คำปรึกษาให้เรียบร้อย
2.1 ผู้ให้คำปรึกษาควรจะได้รวบรวมข้อมูล รายละเอียดต่างๆ ตลอดจนพยายามศึกษาข้อมูลที่มีอยู่ให้เข้าใจและพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดรวบรวมจากระเบียนสะสมจาการสัมภาษณ์ครูประจำชั้น เพื่อนสนิท พ่อแม่และผู้ปกครองของผู้รับคำปรึกษาเป็นต้น
2.2 พิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นว่า้เป็นปัญหาที่จัดอยู่ในประเภทหนึ่งประเภทใดดังต่อไปนี้หรือไม่
- ปัญหาทางด้านการศึกษา
- ปัญหาทางด้านอาชีพ
- ปัญหาทางด้านสังคมส่วนตัว
ถ้าหากปัญหาที่เกิดขึ้นมีลักษณะนอกเหนือจากนี้ เช่น ผู้รับคำปรึกษาเป็นโรคจิตประสาท อาจต้องส่งต่อให้กับผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพ
3. เริ่มต้นการให้คำปรึกษาโดยผู้ให้คำปรึกษาเป็นผู้สร้างสายสัมพันธ์และอธิบายลักษณะของสัมพันธภาพในการให้คำปรึกษา(Establishing Rapport and Explain counseling relationship) ในการเริ่มต้นผู้ให้คำปรึกษาต้องเริ่มสร้างบรรยากาศเพื่อให้ผู้ให้คำปรึกษาเกิดความรู้สึกอบอุ่นและเป็นกันเองด้วยการพูดคุยถึงเรื่องดินฟ้าอากาศ หรือเรื่องราวทั่วไป ซึ่งความคุ้นเคยจะช่วยให้ผู้รับคำปรึกษารู้สึกสะดวกใจที่จะพูดถึงปัญหาตนเองต่อไป สิ่งสำคัญอีกประการทีจะช่วยให้สายสัมพันธ์ดียิ่งขึ้นคือการเป็นผู้ฟังที่ดี มีความพร้อมที่จะฟังเรื่องราวรายละเอียด ผู้ให้คำปรึกษาต้องพร้อมที่จะยอมรับในปัญหาหรือสาเหตุหรืออย่างน้อยที่สุดก็จะต้องยอมรับนับถือในความเป็นบุคคลของผู้รับคำปรึกษา
นอกจากนี้ผู้ให้คำปรึกษาควรอธิบายถึงสัมพันธภาพในระหว่างการให้คำปรึกษาเพื่อผู้รับคำปรึกษาจะได้เข้าใจตรงกันกับผู้ให้คำปรึกษาถึงสิ่งต่อไปนี้
ก. วัตถุประสงค์ของการให้คำปรึกษา
ข. ความรับผิดชอบทั้งของผู้ให้และผู้รับคำปรึกษาที่พึงมีร่วมกัน
ค. การมุ่งเฉพาะลงไปที่ปัญหาแต่ละเรื่องเพื่อทำให้การให้คำปรึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ง. ขอบเขตหรือขีดจำกัดในการให้คำปรึกษาและขีดความสามารถของผู้ให้คำปรึกษาตามที่ได้ฝึกฝนกันมา
4. ทำความเข้าใจและยอมรับในปัญหาของผู้รับคำปรึกษา(Construct model of client concern) ผู้ให้คำปรึกษาต้องพยามทำความเข้าใจและยอมรับในปัญหาของผู้รับคำปรึกษาสิ่งสำคัญที่ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องทราบก็คือ ผู้รับคำปรึกษามาพบด้วยเรื่องอะไรและปัญหาแต่ละเรื่องนั้นมาจากอะไรบ้าง ผู้ให้คำปรึกษาจำเป็นต้องคำนึงถึงอยู่ตลอดเวลาในระหว่างการให้คำปรึกษาประการหนึ่งก้คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้รับคำปรึกษานั้นส่วนใหญ่มักจะมีเรื่องของความรู้สึกและอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุผลอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงไม่สามารถจะใช้เหตุผลแต่เพียงอย่างเดียว แต่ควรจะคำนึงถึงการร่วมรับอารมณ์และความรู้สึกประกอบกันไปด้วย

สิ่งสำคัญในการค้นหาปัญหาและร่วมรับความรู้สึกของผู้รับคำปรึกษา
ปัญหาเกี่ยวกับตัวบุคคลที่เกิดขึ้นจากตัวผู้รับคำปรึกษานั้น อาจมีลักษณะที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ผู้รับคำปรึกษาบาคนก็เข้าใจในปัญหาของตนเองอย่างตรงไปตรงมาและรวดเร็วแต่บางคนอาจสลับซับซ้อน ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ
เทคนิคสำคัญที่ใช้ในการค้นหาปัญหาคือ
ก. การฟัง เพื่อช่วยให้เข้าใจปัญหาได้อย่างถ่อ
ข. การสอบซัก จะช่วยให้เข้าใจปัญหากระจ่างขึ้น

หลักการค้นหาปัญหาสำหรับผู้ให้คำปรึกษา
ก. what ผู้ให้คำปรึกษาจะช่วยผู้รับคำปรึกษาค้นหาปัญหาว่าปัญหานั้นคืออะไร ผู้รับคำปรึกษาสามารถอธิบายออกมาในลักษณะของสิ่งที่สังเกตเห็นได้และอาจวัดได้
ข. when ซักถามในทำนองว่าปัญหานี้เกิดขึ้นเมื่อใด เกิดอยู่นานเพี่ยงใด
ค. where ควรถามเกี่ยวกับสถานที่ที่เกิดปัญหา “เหตุการณ์เกิดที่ไหน”
ง. How ปัญหานั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา เมื่อผู้ให้คำปรึกษาได้รับทราบว่าปัญหาคืออะไร เกิดขึ้นเมื่อไร และที่ไหน สำหรับการที่จะทราบปัญหาเกิดขึ้นอย่างไรนั้น สิ่งที่ผู้ให้คำปรึกษาควรจะรู้ก็คือ ความมากน้อยหรือความถี่ และระยะเวลาของพฤติกรรมที่เป็นปัญหา อันอาจเป็นแนวทางนำไปสู่ความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหา
5. ร่วมกันกำหนดเป้าหมายและตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ไขปัญหา (Decide Goal and objective) ผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับคำปรึกษาร่วมมืกันตั้งหรือกำหนดเป้าหมายของการให้คำปรึกษาตลอดจนตัดสินใจเลือกแนวทางแก้ไขปัญหาออกมาหลายๆวิธี ส่วนวิธีใดจะเหมาะสมแก่ผู้รับคำปรึกษานั้น จะมาร่วมกันพิจารณาอีกครั้งว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์และผู้รับคำปรึกษาสามารถทำได้
ร่วมกันกำหนดเป้าหมายและตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาระหว่างผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับคำปรึกษานั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 2 ประการ
ก. ปัญหาของผู้รับคำปรึกษา บางครั้งปัญหานั้นเพียงแค่มีคนมานั่งรับฟังก็สบายใจแล้ว เช่นนี้ก็ไม่จำเป็นต้องมีขั้นตอนต่อไป
ข. ปัญหาแรงจูงใจของผู้รับคำปรึกษา ถ้าในกรณีที่ผู้รับคำปรึกษายังไม่พร้อมที่จะแก้ไขปัญหาต่อไปผู้ให้คำปรึกษาก็ควรทำการสัมภาษณ์เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือทำการส่งต่อไปที่ผู้อื่น เพื่อรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่อไป

ข้อพึงกระทำอยู่เสมอสำหรับผู้ให้คำปรึกษา คือ การกลับมาสำรวจตนเอง เมื่อผู้ให้คำปรึกษาและผู้รับคำปรึกษาได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายที่เหมาะสมแล้วในขั้นนี้ ผ้ให้คำปรึกษาย่อมมีข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้รับคำปรึกษาทั้งในปัจจุบันและในอดีต ผู้ให้คำปรึกษา ควรจะหันมาพิจารณาตนเองว่ามีความสามารถที่จะช่วยให้ผู้รับคำปรึกษาบรรลุเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่ สิ่งที่ ผู้ให้คำปรึกษาควรพิจารณา คือ
ก. ทักษะควาสามารถและทรัพยากรอื่นๆที่ผู้ให้คำปรึกษามีอยู่
ข. ความเหมาะสมของสถานที่และเวลาที่ผู้ให้คำปรึกษามีอยู่
ค. จรรยาบรรณของผู้ให้คำปรึกษา
6 . ร่วมกันกำหนดแนวทางและขั้นตอนในการฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา(Implement strategy) เมื่อมีการตัดสินใจเลือกวิธีการสำหรับใช้แก้ไขปัญหาของผู้รับคำปรึกษาได้แล้ว ในขั้นนี้จะเป็นการกำหนดขั้นตอนโดยละเอียด เพื่อให้ผู้รับคำปรึกษานำไปปฏิบัติเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาต่อไป การวางแผนแก้ไขปัญหาของผู้รับคำปรึกษาควรกระทำอย่างเป็นขั้นตอน แผนการและขั้นตอนเพื่อการบรรลุเป้าหมายอาจแบ่งออกเป็น
ก. ตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ระยะสั้น การตั้งเป้าหมายอาจกระทำทีละอย่าง
ข. เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้ว ต่อไปก็คือการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ
7. ประเมินผลจากการปฏิบัติของผู้รับคำปรึกษา(Evaluate client performance) เพื่อทราบถึงความก้าวหน้าของผู้รับคำปรึกษาว่าเขามีพัฒนาการมากน้อยเพียงใดและผลนั้นบรรลุตามเป้าหมายหรือไม่ และเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการให้คำปรึกษา
8. ยุติการให้คำปรึกษา( Closed Case) เมื่อการให้คำปรึกษาได้บรรลุตามเป้าหมายแล้ว

สรุปการใช้ทักษะต่างๆในขั้นตอนการให้การปรึกษา

1) การสร้างสัมพันธภาพและตกลงบริการ
เป็นขั้นตอนแรกของกระบวนการให้การปรึกษา มีจุดประสงค์เพื่อการสร้างความคุ้นเคย ความไว้วางใจระหว่างผู้รับการปรึกษากับผู้ให้การปรึกษา ทั้งนี้เพราะเมื่อเริ่มกระบวนการให้การปรึกษา ผู้ขอรับการปรึกษายังมีความไม่แน่ใจ ตื่นเต้น หรือลำบากใจที่จะเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาของตนเอง นอกจากนี้ในระยะเริ่มต้นของกระบวนการให้การปรึกษาผู้รับการปรึกษาและผู้ให้การปรึกษาเป็นผู้แปลกหน้าต่อกัน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ให้การปรึกษาจะต้องสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายแสดงความจริงใจและความปรารถนาของตนที่จะช่วยเหลือผู้รับการปรึกษาด้วยกิริยาท่าทางหรือสื่อสารให้ผู้รับการปรึกษาได้รับรู้
การสร้างสัมพันธภาพมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
1.1 การทักทาย ต้อนรับ (Greeting) โดยทั่วไปผู้ให้การปรึกษาเปิดการสร้างสัมพันธภาพโดยการทักทายผู้รับการปรึกษา ทั้งด้วยวาจา และท่าทางที่พร้อมจะให้บริการ อาจแสดงพฤติกรรมดังต่อไปนี้
- ยิ้ม
- ทักทายด้วยการเรียกชื่อด้วยน้ำเสียงการยอมรับความเป็นบุคคล
- แสดงท่าทีเป็นกันเอง อาจสัมผัสผู้รับการปรึกษาที่มือ หรือแขน ตามความเหมาะสมอย่างเป็นธรรมชาติ
- ขณะสนทนาแสดงท่าทางท่าทีเปิดเผย ไม่กอดอก วางมือตามสบาย อาจเข้ามาใกล้ผู้รับการปรึกษาตามความเหมาะสม
- จัดเก้าอี้หรือที่นั่งให้มีระยะห่างที่เหมาะสมและรู้สึกสบายทั้งสองฝ่าย
- ประสานสายตาตามธรรมชาติ ไม่จ้องตา
1.2 การเริ่มต้นสนทนา (Small Talk) ผู้ให้การปรึกษาจะเริ่มสนทนาโดยพูดเรื่องทั่ว ๆ ไป เช่น ดิน ฟ้า อากาศ การเดินทาง เพื่อให้ผู้รับการปรึกษารู้สึกผ่อนคลาย จากนั้นจึงคุยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้รับการปรึกษา สิ่งแวดล้อมหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงว่าผู้ให้การปรึกษาสนใจในตัวผู้รับคำปรึกษาอย่างจริงจัง
1.3 ตกลงบริการ (Sign Contact) ผู้ให้การปรึกษาและผู้รับการปรึกษา ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อตกลงในการบริการหรือในการบำบัดรักษา หรือในการช่วยเหลือเกี่ยวกับเป้าหมาย กระบวนการ บทบาทของทั้งสองฝ่าย เวลาและการรักษาความลับ เพื่อให้เกิดความร่วมมือ
ประโยคที่ใช้ในการตกลงบริการ เช่น
- “คุณต้องการให้ครูช่วยอะไรบ้าง”
- “ตอนนี้บอกได้ไหมว่าจะให้ครูช่วยเหลือในเรื่องใด”
- “มีอะไรไม่สบายใจที่จะบอกให้ครูทราบบ้าง”
- “ตกลง เราจะมาหาทางแก้ไขเรื่องเธอติดยา”
- “วันนี้ เราจะใช้เวลาคุยกันประมาณ 30 นาที พอได้ไหม คะ”
- “ครูรับรองว่า เรื่องที่เราคุยกันวันนี้จะเป็นความลับ”
1.4 การแสดงท่าทีที่สนใจ (Attention) ในระหว่างการสนทนากับผู้ให้คำปรึกษา ต้องแสดงท่าทีที่สนใจผู้รับการปรึกษาอย่างจริงจัง ตลอดเวลาซึ่งทำได้ด้วยการแสดงดังต่อไปนี้
- การสบตาที่เหมาะสม
- ท่านั่งที่ผ่อนคลายและแสดงความตั้งใจ
- สีหน้าที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่กำลังสนทนา
- การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล
- พยักหน้าเป็นครั้งคราวแสดงการรับฟังอย่างสนใจ
- ใช้คำพูดแสดงความสนใจ รับฟัง และการอยากฟังเรื่องต่อ
- แสดงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ผู้รับการปรึกษาแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่มิใช่คำพูด (non-verbal)
2) การสำรวจปัญหา
ผู้ให้การปรึกษาต้องใช้ทักษะต่าง ๆ เพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้รับการปรึกษาสำรวจปัญหาของตน และความต้องการของตน ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้ระยะเวลามากน้อยเพียงใด ขึ้นกับสติปัญญา ความเข้าใจ ลักษณะนิสัยของผู้รับการปรึกษา และความชำนาญในการใช้ทักษะของผู้ให้การปรึกษา
3) เข้าใจปัญหาและสาเหตุของปัญหา
ขั้นตอนนี้สำคัญที่สุดถือเป็นหัวใจของกระบวนการให้การปรึกษา ซึ่งผู้ให้การปรึกษาต้องช่วยให้ผู้รับการปรึกษา สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นปัญหานำและอะไรเป็นปัญหาที่แท้จริงบ่อยครั้งที่ผู้รับการปรึกษาระบุปัญหาตอนตกลงบริการอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง
ทักษะสำคัญที่ต้องใช้ในการสำรวจปัญหาและเข้าใจปัญหา ได้แก่
1. การถาม (Questioning) จุดประสงค์สำคัญของการถาม คือ การให้ผู้รับการปรึกษาสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับอารมณ์ ความทุกข์ร้อน ความต้องการ ความสนใจ ประสบการณ์ ความเชื่อ จุดเด่นและจุดด้อยของตนเอง คำถามที่ควรใช้คือ คำถามปลายเปิด (Open question) และคำถามเจาะเรื่อง (Focus question)
คำถามปลายเปิด จะช่วยให้ผู้ตอบมีโอกาสแสดงความคิด ความรู้สึกของตนเองได้โดยคำอธิบายของตนเอง ซึ่งจะมีความหมายเฉพาะตน รวมทั้งมีการเรียงลำดับเหตุการณ์ตามที่เกิดขึ้นจริง จะทำให้ผู้รับการปรึกษาและผู้ให้การปรึกษารู้จักกับปัญหาที่แท้จริงได้มากขึ้น ดังอย่างเช่น
“เริ่มใช้ยาตั้งแต่เมื่อไร”
“ใช้ยาอะไรบ้าง”
“เล่าความรู้สึกตอนนั้นให้ฟังหน่อยซิคะ”
“คุณคิดว่าคนอื่นมองคุณอย่างไรคะ”
“เพราะอะไรจึงใช้ยา”
คำถามเจาะเรื่อง เป็นคำถามที่ผู้ให้การปรึกษานำหรือควบคุมทิศทางของการสำรวจปัญหาให้แคบลง เพื่อให้เรื่องสำคัญที่กำลังสนทนาอยู่มีความชัดเจนขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ผู้ตอบมีอิสระในการเลือกตอบคำถามที่ตรงประเด็น นอกจากนี้การให้คำถามเจาะเรื่องช่วยตรวจความเข้าใจของทั้งสองฝ่ายด้วย คำถามที่ใช้ เช่น
“ช่วยเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนหน่อยซิคะ”
“เรื่องนี้ทำให้คุณเดือนร้อนอย่างไร”
“คุณถูกรบกวนจิตใจจากเขาอย่างไรบ้าง”
“คุณรู้สึกอย่างไรที่เพื่อนไม่สนใจ”
“ถ้าแม่รู้ว่าคุณติดยาแล้วจะเกิดอะไรขึ้น”
การถามไม่ว่าจะใช้คำถามแบบใดจะต้องควบคู่กันกับการกระตุ้นให้ผู้รับการปรึกษาพูดเล่าระบายให้มากที่สุด การกระตุ้นนี้ทำได้ทั้งด้วยคำพูดร่วมกับพฤติกรรมที่มิใช่คำพูด ดังเช่น การพยักหน้า คำพูดที่ใช้กันบ่อย เช่น “แล้วอย่างไร” “พูดต่อไปซิคะ” “มันเป็นอย่างไรนะ” เป็นต้น
2. ฟังและทวนคำถาม การฟังที่ดีนั้นผู้ฟังต้องฟังอย่างสนใจร่วมกับการกระตุ้นให้พูดต่อและการมีท่าที่สนใจตลอดเวลา ตลอดจนการเงียบเป็นครั้งคราว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้รับการปรึกษารวบรวมความคิดหาคำพูดที่ตรงกับข้อมูลที่เป็นจริง 
การทวนความมีจุดประสงค์ คือ ผู้ให้การปรึกษาจะทำการตรวจสอบข้อมูลที่รับฟังได้ ทั้งยังเป็นการแสดงให้ผู้รับการปรึกษารับรู้ว่า ผู้ให้คำปรึกษาติดตามปัญหาอย่างจริงจัง และเข้าใจเรื่องให้ชัดเจน รวมทั้งสนใจจะรับฟังเรื่องราวต่อไป โดยเฉพาะอาจใช้เพื่อให้เข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น การทวนความรวมถึงการทวนข้อความที่ผู้พูด พูดทั้งหมดหรือเลือกทวนความเฉพาะจุดสำคัญ โดยเน้นเนื้อหาบางเรื่องเพื่อตรวจสอบข้อมูลให้ตรงกันและความเข้าใจ
3. การสะท้อนความรู้สึก เป็นทักษะที่ผู้ให้คำปรึกษาจะตีความ และความรู้สึกของผู้รับการปรึกษาที่เล่ามาเป็นคำพูด หรือแสดงออกทางพฤติกรรมที่มิใช่คำพูด ร่วมกับการเล่าเหตุการณ์ซึ่งแฝงอยู่ในเนื้อหาที่พูด ทั้งนี้เพื่อให้ผู้รับการปรึกษารับรู้เข้าใจและเผชิญกับความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง คำพูดที่เป็นการสะท้อนความรู้สึก มักขึ้นต้นด้วยคำว่า “คุณรู้สึก…….” หรือ “คุณโกรธ” “คุณรู้สึกท้อแท้” “คุณรู้สึกเหงา” “ตลอดเวลาคุณรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง”
4. การสรุปความ เป็นการพูดสรุปเรื่องที่สนทนาทั้งหมดให้เป็นประโยคเดียว ซึ่งครอบคลุมทั้งเนื้อหาและความรู้สึกโดยพยายามใช้ศัพท์หรือคำพูดของผู้รับการปรึกษาเอง และระวังที่จะไม่สรุปโดยใช้ความคิด ความรู้สึก หรือประสบการณ์ของผู้ให้การปรึกษาเป็นพื้นฐาน สิ่งที่จะได้คือ ความกระจ่าง
4) การแก้ปัญหา
เป็นขั้นตอนที่ผู้ให้การปรึกษาช่วยให้ผู้รับการปรึกษา ใช้ศักยภาพของตนเท่าที่มีอยู่ค้นหาวิธีการแก้ปัญหาที่หลากหลายและตัดสินใจเลือกทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุดหลังจากที่ได้สำรวจปัจจัยที่เกี่ยวข้องและผลที่อาจเกิดขึ้นหากใช้วิธีการแก้ปัญหาแต่ละอย่างที่เป็นไปได้
1. การประคับประคอง เป็นการให้กำลังใจมากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องเป็นข้อมูลที่เป็นไปได้จริง และไม่ใช้ข้อมูลหรือการให้กำลังใจที่มุ่งกลบเกลื่อนความรู้สึก
2. การให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวที่แน่ใจว่าผู้รับการปรึกษายังไม่รู้และควรเป็นข้อมูลสำคัญซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจและการสร้างพฤติกรรมใหม่
3. การเสนอวิธีการต่าง ๆ ในกรณีผู้รับการปรึกษา ไม่มีศักยภาพจริง ๆ ผู้ให้การปรึกษาต้องเสนอหนทางแก้ไขปัญหาแบบต่าง ๆ ให้ผู้รับการปรึกษาเลือกวิธีการด้วยตนเอง
4. การคาดการณ์ด้วยเหตุผล (Logical consequence) เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้รับการปรึกษาใช้ศักยภาพของตนเองให้มากที่สุดในการสำรวจปัจจัยที่เกี่ยวข้องและผลที่อาจเกิดขึ้นในเหตุการณ์ต่าง ๆ หรือวิธีการแก้ปัญหาแบบต่าง ๆ หรือการแสดงพฤติกรรมใหม่
การแก้ปัญหาใด ๆ ก็ตามไม่เกิดผลดีตามความคาดหมายหากผู้รับการปรึกษาไม่นำพฤติกรรมใหม่ไปปฏิบัติจริง ส่วนใหญ่การให้คำปรึกษาจะไม่สิ้นสุดตรงที่มีการตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหาแล้ว แต่จะต่อเนื่องกันไปจนให้ผู้รับการปรึกษาไปทดลองแก้ปัญหาแล้วกลับมาพูดคุยสนทนากับผู้ให้การปรึกษา เพื่อการปรับวิธีแก้จนกระทั่งการแก้ปัญหานั้นเสร็จสิ้น
5) การยุติการปรึกษา
การให้การปรึกษาอาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว หรือหลาย ๆ ครั้งต่อเนื่องจนปัญหาคลี่คลาย หรืออาจยุติด้วยผู้ให้การปรึกษาไม่สามารถจัดการได้ ให้ส่งต่อผู้เชี่ยวชาญต่อไป
ในการยุติการปรึกษาในแต่ละครั้ง ผู้ให้การปรึกษาปฏิบัติได้ดังนี้
1. ให้สัญญาณผู้รับการปรึกษาได้รู้ว่าใกล้จะหมดเวลาแล้ว เช่น มองนาฬิกา หรือพูด “เราเหลือเวลาอีก 2-3 นาที”
2. สรุปเรื่องที่พูดคุยในวันนี้ เช่น “วันนี้เราพูดกันถึงสาเหตุที่ทำให้คุณติดยา และคุณตัดสินใจที่จะไปรักษา”
3. ส่งเสริมให้ผู้รับบริการได้เห็นคุณค่าของตนเองมีความรู้สึกดี ๆ กับตัวเอง ส่งเสริมให้มีความคิดในเชิงบวก (Positive Thinking) มองโลกในแง่ดี และให้กำลังใจ
4. อาจมีการบ้านให้ผู้รับการปรึกษา กลับไปปฏิบัติ เช่น การเปลี่ยนการสื่อสาร การฝึกการหายใจคลายเครียดการฝึกการใช้จินตนาการบำบัด เป็นต้น
5. การนัดหมายครั้งต่อไป บางครั้งการพูดคุยกันครั้งเดียวอาจช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่ได้ แต่ควรให้โอกาสผู้รับการปรึกษา ได้เลือกว่าจะมาพบอีกหรือไม่
จะเห็นได้ว่าการให้การปรึกษามีขั้นตอน และหลักวิชาการดังนั้น จึงจำเป็นที่ผู้ให้การปรึกษาต้องมีความรู้และความสามารถในการใช้ทักษะต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเอื้ออำนวยให้ผู้ขอรับการปรึกษาได้ใช้ศักยภาพของตนในการแก้ไขปัญหา ให้เหมาะสมกับสภาพสังคม
ซึ่งวิธีการเชิงจิตวิทยานี้สามารถปรับใช้ได้ในทุกปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเรียน ปัญหาการปรับตัว ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนในครอบครัว รวมทั้งปัญหายาเสพติด ความยากง่ายขึ้นกับตัวผู้ให้การปรึกษาซึ่งอาจเป็นจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาลจิตเวช ครู อาจารย์ รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่มีใจเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์


บรรณานุกรม
จินตนา ยูนิพันธ์. ทักษะการให้คำปรึกษาทางจิต. การให้คำปรึกษา : ความจำเป็นต่อการพัฒนาสุขภาพ
             อนามัย สมาคมพยาบาลจิตเวชแห่งประเทศไทย. กรุงเทพฯ, 2536.
จีน แบรี่. คู่มือการฝึกทักษะให้การปรึกษา. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพฯ, 2537.
พงษ์พันธ์ พงษ์โสภา. ทฤษฎีและเทคนิคการให้คำปรึกษา. กรุงเทพมหานคร: พัฒนาศึกษา,2544.
อาภา จันทรสกุล. ทฤษฎีและวิธีการให้คำปรึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพมหานคร: ภาควิชาจิตวิทยาการ
            ศึกษาและแนะแนว. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,2535.
Corey, Gerald. Theory and Practice 0f counseling and psychotherapy. Belmont,California:Wadsworth 
            publishing company,Inc.,1977.
Ivey, Atten E. Intentional Interviewing and counselling. Pacific Grove, C.A. : Brooks Cole Publishing Co., 
            1994.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น