9/1/53

schizophrenia

schizophrenia ผู้ป่วยจิตเภทนี้มีอาการแสดงหลายแบบสามารถจำแนกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะมีอาการผิดปกติเบื้องต้นเหมือนกันอยู่ 4 อย่างจึงใช้คำว่า 4’A หรือ the four “As” คือขึ้นต้นด้วยตัว A ทั้ง 4 อาการ ได้แก่
1. Associational disturbance หมายถึง มีความคิดไม่ต่อเนื่อง และความคิดไม่เชื่อมโยงหรือไม่สัมพันธ์กัน
2. Affective disturbance หมายถึง มีการแสดงออกของอารมณ์แปรปรวน ไม่เหมาะสมหรือสอดคล้องกับสถานการณ์
3. Ambivalence หมายถึง มีความลังเล ตัดสินใจไม่ได้ ไม่รู้จะทำอะไร
4. Autism หมายถึง การสร้างเรื่องของตนเองขึ้นมา จึงอยู่ในโรคของตนเอง
ระบาดวิทยา
ผู้ป่วยจิตเภทมีข้อมูลทางระบาดวิทยาที่น่าสนใจดังนี้
อัตราการเกิด : พบว่าเกิดโรคจิตเภทนี้ได้ประมาณร้อยละ 0.8 ในประชากรทั่วไป
เพศ : พบว่าทั้งเพศชายและเพศหญิงมีโอกาสป่วยด้วยโรคจิตเภทเท่ากัน มีข้อสังเกตแต่เพียงว่าเพศหญิงมีการพยากรณ์โรคดีกว่าในเพศชาย
อายุ : พบว่าอาการของโรคจิตเภทมักมาแสดงอาการเด่นชัดในช่วงวัยอายุตอนปลาย และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยเฉลี่ยแล้วผู้ชายที่เป็นโรคนี้จะเริ่มเป็นในช่วงอายุ 20 ปี ต้นๆ ส่วนผู้หญิงจะเริ่มเป็นครั้งแรกในช่วงอายุ 20 ปลายๆ แต่บางคนอาจเริ่มเป็นในวัยกลางคน(http://www.thaimental.com)
ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม : พบการป่วยด้วยโรคจิตเภทได้มากในกลุ่มประชากรที่มีการศึกษาน้อยและฐานะยากจน
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุของโรคจิตเภท
• ปัจจัยทางพันธุกรรม
• ปัจจัยด้านพยาธิสรีรวิทยา
• ความผิดปกติของโครงสร้างสมอง
• ปัจจัยด้านจิตสังคม
การจำแนกโรค
จำแนกตามลักษณะอาการและการพยากรณ์โรค(มานิต ศรีสุรภานนท์และจำลอง ดิษยวณิช, 2542) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. Type I หรือ positive schizophrenia กลุ่มนี้มีอาการทางจิตเกิดขึ้นอย่างกระทันหัน ได้แก่ มีอาการหลงผิด (delusion) อาการประสาทหลอนทางการได้ยิน (auditory hallucination) และมีลักษณะการพูดหรือวิธีการสื่อสารบกพร่อง (incoherent) ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนมากมีประวัติว่ามีบุคลิกภาพพื้นฐานเหมาะสม เช่น ไม่แยกตัว และปรับตัวในสังคมได้ ทำให้มีการพยากรณ์โรคในทางที่ดี
2. Type II หรือ negative schizophrenia กลุ่มนี้การดำเนินของโรคเป็นไปอย่างช้า ๆ อาการทางจิตไม่ชัดเจน อารมณ์ทื่อ(flattened affect) บุคลิกภาพแบบเฉยเมย แยกตัว (withdrawal) พูดน้อย(poverty of speech) สูญเสียแรงขับ(Loss of drive) มักไม่ประสบความสำเร็จในด้านการเรียนหรือการทำงาน และความสามารถในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพลดลง
การรักษาอาจแบ่งออกเป็น 3 ระยะใหญ่ๆ ตามลักษณะอาการดังนี้(มาโนช หล่อตระกลูและปราโมทย์ สุคนิชย์,2545)
1.การรักษาระยะอาการกำเริบ (acute treatment)
หมายถึงการรักษาในระยะที่ผู้ป่วยโรคจิตเภทที่เริ่มมีอาการด้านบวกกำเริบ ทั้งในการป่วยครั้งแรก หรือครั้งถัดๆ มา
เป้าหมายของการรักษาคือ
•ควบคุมอาการที่กำเริบให้ได้โดยเร็ว
•จัดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย
•ควบคุมอาการก้าวร้าวรุนแรง
•สร้างสัมพันธภาพในการรักษากับผู้ป่วย และญาติ
ในระยะนี้การปรับขนาดยา และการให้การช่วยเหลือในด้านจิตสังคมอย่างจริงจังเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งควรให้ญาติเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาตั้งแต่เริ่มแรก
ในระยะที่ผู้ป่วยมีอาการกำเริบนี้ แพทย์จะรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลในกรณีต่อไปนี้
1.มีพฤติกรรมเป็นอันตรายต่อตนเอง หรือผู้อื่น หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น
2.มีปัญหาอื่นๆ ที่ต้องดูแลใกล้ชิด เช่น มีอาการข้างเคียงจากยารุนแรง
3.เพื่อควบคุมเรื่องยา ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ยอมรับประทานยา
4.มีปัญหาในการวินิจฉัย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจเป็นจากโรคทางกาย
2.การรักษาในระยะอาการทุเลา (stabilization phase)
ระยะนี้อาการต่างๆ ที่กำเริบเริ่มทุเลาลง ผู้ป่วยเริ่มพอควบคุมตนเองได้บ้าง การสื่อสารดีขึ้น อาการด้านบวกยังคงมีอยู่แต่ความรุนแรงลดลง
เป้าหมายของการรักษาคือ
•ลดความกดดันที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ป่วย
•ให้การช่วยเหลือทางจิตใจ
•ช่วยในการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม
•ควบคุมอาการ
ยาที่ใช้ในระยะนี้ควรเท่ากับขนาดในระยะอาการกำเริบนานอย่างน้อย 6 เดือน ระยะนี้กิจกรรมต่างๆ อาจไม่ต้องชัดเจน และแน่นอนมากเหมือนในระยะแรก ควรช่วยในการปรับตัวและการปรับพฤติกรรมให้อยู่ในสังคมได้ โดยเฉพาะกับสภาพที่บ้าน หากกลับไปทำงานควรเปลี่ยนลักษณะงานเป็นงานที่ยังไม่ต้องรับผิดชอบ หรือมีความกดดันมากนัก การบอกกับญาติว่าเป็นระยะพักฟื้นอาจทำให้เข้าใจง่ายขึ้น และไม่คาดหวังในตัวผู้ป่วยมากอันอาจเป็นการกดดันต่อผู้ป่วย
3.การรักษาในระยะอาการคงที่ (stable phase)
ผู้ป่วยโรคจิตเภทที่หายแล้ว แต่ส่วนใหญ่แล้วยังมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้ ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาให้หายขาด ดังนั้น ผู้ป่วยโรคจิตเภทส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยมีอาการหลายครั้งจึงจำเป็นต้องได้รับการบำบัดต่อเนื่องระยะยาว
เป้าหมายสำคัญของการรักษาระยะยาว
•ป้องกันการกำเริบ การกลับเป็นซ้ำ หรือช่วงอาการเฉียบพลันอีก
•ให้ผู้ป่วยสามารถดำรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถกลับเข้าสังคมได้
•ป้องกันผลข้างเคียงของการรักษา

การรักษาทางกายภาพ
การรักษาด้วยยาเป็นการรักษาหลักในโรคนี้ เหตุผลในการใช้ยารักษาโรคนี้ก็คือ ให้ยาไปช่วยแก้ไขความผิดปกติของการสื่อประสาทที่เราเชื่อว่าเป็นสาเหตุของโรคนี้ กลุ่มของยาที่ใช้ในการบำบัดบ่อยที่สุดคือ ยากลุ่มรักษาโรคจิต (antipsychotics) โดยอาจมีการให้ยากลุ่ม benzodiazepines หรือ lithium carbonate ร่วมด้วยเป็นบางครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น